นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เชื่อว่า การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. สะท้อนความต้องการอยากอยู่ยาวของแม่น้ำห้าสาย โดยคนเหล่านี้จะฟังสัญญาณจากผู้มีอำนาจ หากไม่เห็น นายกรัฐมนตรี ออกมาห้ามปราม ก็จะได้เห็นความพยายามผลักดัน แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.
สัญญาณดังกล่าว เป็นความต้องการตอบสนองตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ที่สำคัญ หากความพยายามผลักดันแก้ไขกฎหมาย มีกระแสในทางบวก เชื่อว่าสมาชิกสนช.จะเดินหน้าต่อ จนทำให้ โรดแมปเดิมถูกพักไว้ก่อน และไปเร่งแก้ไขกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง
นายสุขุม เห็นว่ายังมีปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไป เช่น การทำไพรมารีโหวต ไม่ว่าจะเดินหน้าด้วยรูปแบบใด จะมีคนออกมาทักท้วงว่าขัดรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยและทำให้โรดแมปการเลือกตั้งทอดยาวออกไป
ส่วนการอ้างเหตุความไม่สงบเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาล ได้ทำเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด นับแต่การยึดอำนาจ หากมีความไม่สงบเกิดขึ้นจริง ในช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อมาดูแลความสงบเรียบร้อยและนำไปสู่การเลือกตั้ง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เชื่อว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.จะนำการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีกลไก ส.ว. 250 คน ทำหน้าที่สนับสนุน และ หากผู้มีอำนาจต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ อาจเจรจาดึงพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรัฐบาล ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจต้องยุติบทบาท ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค
นายสุขุม แนะนำให้พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายด้านสิทธิเสรีภาพ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาคสช.พยายามผลักดัน เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านหลายนโยบายเพื่อแข่งขัน และลบจุดอ่อน ของตัวเอง ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนการกำหนดรูปแบบของนโยบาย
'นพดล' แนะไม่รื้อกฎหมาย กกต. ช่วยเลี่ยงขัดแย้ง
ด้าน นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตนเห็นว่า สนช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจนั้นจะทำอะไรควรไตร่ตรองให้รอบคอบว่าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ บ้านเมืองปรองดองหรือจะขัดแย้งตามมา ประชาชนอยากเลือกตั้งช้าหรือเร็ว หลายท่านมีความรู้มีประสบการณ์น่าจะคิดได้ และอย่าประเมินความอดทนของประชาชนต่ำเกินไป
“เห็นมีข่าวว่าอาจจะไม่เดินหน้าแก้ไขกฎหมายแล้ว ไม่แน่ใจว่าเริ่มคิดได้ว่ามีงานอื่นที่ควรทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ หรือเพราะมีเสียงคัดค้าน ถ้าไม่เสนอแก้จริงคงจะช่วยเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่องนี้ได้ และเป็นผลดีต่อประเทศที่จะได้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ผู้นำในรัฐบาลได้พูดไว้คือ ก.พ. 2562” นายนพดล ระบุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง