ไม่พบผลการค้นหา
สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ bookmoby จัดเสวนา “จากไวมาร์ฯ ถึงเผด็จการวิทยา : ประชาธิปไตยไขว้เผด็จการ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายภาณุ ตรัยเวช ผู้้เขียนหนังสือ​ 'ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง' ​ กล่าวถึง​สาธารณรัฐไวมาร์ หรือเยอรมนี​ยุคหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่​ 1 กับวาทกรรม ‘อดอล์ฟ​ ฮิตเลอร์​ มาจากการเลือกตั้ง’ ว่าเป็นมายาคติในสังคมที่ไม่รู้เท่าทันการครอบงำทางความคิด เพราะ​ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม​ จึงถือว่ามาหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ได้​ แต่อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือที่จะอธิบายสภาพสังคมและเงื่อนไขยุคนั้น​ที่ทำให้สาธารณชนสนับสนุนการครองอำนาจของฮิตเลอร์​

โดยเฉพาะเมื่อคนในสังคมมองว่าเสรีภาพ​ สร้างปัญหาและความขัดแย้ง​ มักเรียกร้องต้องการผู้เผด็จการที่มีอำนาจเด็ดขาดมาควบคุม​ หรือกำหนดว่าสิ่งไหนคนในสังคมควรชอบหรือไม่ควรชอบ​ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบอบเผด็จการยังดำรงอยู่ในโลกจนปัจจุบัน


30-9-2561 17-05-25.jpg

( ภาณุ ตรัยเวช ผู้้เขียนหนังสือ​ 'ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง' )


ด้าน​ผู้ช่วยศาสตราจารย์​พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ผู้เขียนหนังสือ 'เผด็จการวิทยา'​ กล่าวว่า​ วาทกรรมจำนวนมากของฝ่ายอนุรักษ์นิยม​ไทย ใช้คุณค่าสังคมเก่า​มา​ช่วงชิงและดึงดูด​คน รวมถึงมีลักษณะก้าวหน้ามากกว่าฝ่ายประชาธิปไตย​ ที่มักอิงกับหลักเกณฑ์ความเป็นสากลหรือรูปแบบตามหลักการ​

ส่วนคำว่า​ "เผด็จการ​" นั้น เป็นระบอบการเมือง​ ที่ไม่มีการเลือกตั้ง​ ไม่มีฝ่ายค้านในรัฐสภา​ และ "อำนาจนิยม​" ก็คือ​รูปแบบการใช้อำนาจที่มีปัญหา​ ไร้การตรวจสอบ ซึ่งแม้ทุกระบอบการเมืองมีการใช้อำนาจ​ แต่หากเป็นระบอบประชาธิปไตย​จะมีการตรวจสอบด้วย​ 


30-9-2561 17-02-01.jpg

( ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


ผู้เขียนหนังสือ 'เผด็จการวิทยา' ​ชี้ว่า​ ในสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ จะเปลี่ยนธรรมชาติของคนในสังคมให้อยู่ในกรอบที่ผู้มีอำนาจกำหนด​ผ่านวัฒนธรรมด้านต่างๆ รวมถึงการร้องเพลง​ด้วย​ ซึ่งวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจและคนในสังคม​ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เผด็จการดำรงอยู่ 

อย่างไรก็ตาม​ ทั้งระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย ต่างเกิดในยุครัฐสมัยใหม่ หรือเป็นทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เช่นเดียวกัน หากสังคมเห็นว่าประชาธิปไตยที่ถือเอาเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญนั้นมีปัญหา​อยู่บ้าง ก็ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น​ ไม่ควรหันหลังให้ประชาธิปไตยและเรียกร้องระบอบเผด็จการ​ ที่ใช้อำนาจนิยมและครอบงำคนผ่านวัฒนธรรม

ขณะที่​ศาสตราจารย์​วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์​ ระบุว่า​ หนังสือ​ทั้ง 2​ เล่ม​ สามารถศึกษาเปรียบเทียบกับสังคมไทยได้ แม้ไม่ได้พูดเรื่องสังคมไทยโดยตรง แต่ทำให้เข้าใจการขึ้นสู่และครองอำนาจของเผด็จการมากขึ้น แม้แต่ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ การทำให้ต้องประเมินถึงกลุ่มคนในสังคมที่มีคนทั้งชอบและไม่ชอบเผด็จการ ซึ่งจำเป็นต่อการกำหนดท่าที​ เพราะการจะต่อสู้กับสิ่งใด จำเป็นต้องรู้เงื่อนไขการดำรงอยู่ของสิ่งนั้นก่อน


30-9-2561 17-05-06.jpg

( ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ )


นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์​ กล่าวด้วยว่า​ เดิมที "เผด็จการ​" ตามรากศัพท์เป็นคำความหมายกลางๆ เกิดขึ้นช่วงโรมัน​ จากสภาวะสังคมเผชิญวิกฤต​ สภาจึงยอมให้กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด แต่เผด็จการมักสร้างความฝันใหม่ให้สังคมที่อ่อนแอและหวาดกลัว​เสมอ มีระดับความเข้มข้นและระยะเวลาดำรงอยู่ต่างกันตามเงื่อนไขของแต่ละสังคม​ และนอกจากความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตย​ การครอบงำทางวัฒนธรรมและเครื่องมือทางกฎหมายแล้ว ชนชั้นนำเองเป็นตัวชี้ขาดสำคัญ ที่จะทำให้เผด็จการซึ่งมีความอารยะน้อยกว่าประชาธิปไตยยังดำรงอยู่ได้