นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการลงพื้นที่โครงการสนช.พบประชาชนที่จัวหวัดภูเก็ต ถึงกรณีสังคมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ภายหลัง สนช. ขยายเวลาบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า อาจสื่อสารคลาดเคลื่อนว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไปอีก 90 วันจากโรดแมปเดิม เพราะความจริงอาจจะไม่เลื่อนเลย หรือเลื่อนไม่เต็มกรอบระยะเวลา 240 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้ง ว่าจะใช้เวลาประสานกับรัฐบาลมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เวลาที่ขยายจึงเป็นการเผื่อไว้เท่านั้น โดยที่อาจจะใช้เวลาน้อยกว่ากรอบเวลาที่กำหนดก็ได้
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ส่วนกระแสข่าวว่ามีสมาชิก สนช. บางคนประสานให้ กกต. โต้แย้งประเด็นการอนุญาตให้จัดมหรสพช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น ในช่วงการพิจารณาประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม สนช. มีความเห็นหลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอาจจะมีสมาชิกอยากจะให้ กกต.โต้แย้ง แต่ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ทั้งนี้ นายพีระศักดิ์ ปฏิเสธว่า สนช. ไม่มีความพยายามที่จะออกกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก ข้อวิจารณ์ดังกล่าวจึงมีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากไม่มีใครสามารถล็อบบี้ สนช. ได้
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ได้หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในส่วนของ กกต. ที่จะนำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ไปดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสอง จากนั้นจะส่งให้ครม.อีกครั้ง โดยคาดว่าจะส่งให้สนช.ภายในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ สนช.จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ คิดว่า กกต. จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ประมาณเดือน ก.ค. – ส.ค.นี้ ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มีความเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ จะมำให้รัฐบาลประเมินสถานการณ์ความสามัคคีปรองดองให้ประเทศเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ง่ายขึ้น
สำหรับกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องกลุ่มผู้ชุนนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วว่า "ตอนนี้ คสช.เป็นรัฐาธิปัตย์ ทุกคนต้องเคารพและยึดตามกฎหมาย"
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ถามนายพีระศักด์ว่ารัฏฐาธิปัตย์คืออะไร โดยนายพีระศักดิ์กล่าวว่า รัฏฐาธิปัตย์ของประเทศไทย แบ่งอำนาจเป็นตุลากร นิติบัญญัติ บริหาร ตามรัฐธรรมนูญปี 60 แล้ว ซึ่งรัฏฐาธิปัตย์ตอนนี้มีทั้ง คสช. ที่มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเพราะบทเฉพาะกาลให้อำนาจหน้าที่ไว้ ทางครม. ทางฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สนช. ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งนั้น นี่คือรัฏฐาธิปัตย์ที่มีคนพยายามแปลพยายามบิดไปว่ามันคือตรงไหน ส่วนคสช. อยู่ในบทบัญญัติ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้น คสช.จึงถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์
ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนมาตามลำดับ ก็ทำให้ความน่าเชื่อมั่นในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลดลง หลังจากประกาศครั้งแรก เมื่อ 31 พฤษภาคม 2557 จะใช้เวลาราว 1 ปี จะเริ่มเข้าสู่การเลือกตั้ง จากนั้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ประกาศที่ประเทศญี่ปุ่นว่าเตรียมแผนคิดเลือกตั้งสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559 เมื่อ 28 กันยายน 2558 ก็กล่าวระหว่างหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติว่าคาดว่าจะประกาศเลือกตั้งกลางปี 2560 เมื่อเดินทางไปพบประธานาธิบดีทรัมป์ก็ประกาศอีกครั้งว่าเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 จนมาถึงการใช้กลไกแม่น้ำ 5 สาย คือ สนช. ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วันทำให้กำหนดจะอยู่ประมาณกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งการเลื่อนการเลือกตั้งมาตามลำดับทำให้ความเชื่อมั่นลดลงตามสมควร
ในส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรียอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่การทำงานในปีท้ายๆ ของรัฐบาลจะอยู่ในช่วงขาลงนั้น นายองอาจกล่าวว่า รัฐบาลอาจจะอยู่ในช่วงขาลงหรือขาขึ้นได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลเอง ถ้ารัฐบาลทำงานดีมีผลงานประชาชนก็จะให้การสนับสนุน ทำให้รัฐบาลอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลทำไม่ดี ไม่มีผลงานเข้าตาประชาชน ก็จะทำให้รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลงได้
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง น่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ 4 ประการคือ
1. ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส
ซึ่งรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสมาเป็นระยะจากความพยายามหาประโยชน์จากโครงการต่างๆ จนมาประทุเป็นเชื้อไฟลามทุ่งเมื่อผู้คนมุ่งจับจ้องมาที่เรื่องนาฬิกา
2. ปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ
แต่เดิม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงตนอยู่ในสถานะกรรมการใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ปรับเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น แต่เมื่อประกาศตัวเป็นนักการเมือง มีความพยายามใช้กลไกต่างๆ ที่ตนเองสร้างขึ้นมาผ่านแม่น้ำ 5 สาย ประกอบกับการเคลื่อนไหวของ พลเอกประยุทธ์ ที่รุกหนักในทางการเมืองมากขึ้น ทำให้สถานะของพลเอกประยุทธ์ เป็นทั้งกรรมการ และผู้เล่นในสนามการเมืองไปพร้อมกัน อันส่งผลให้ถูกมองถึงการสืบทอดอำนาจชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลถึงความไม่ชอบธรรมในการครองอำนาจ
3.ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น
เมื่อพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เข้ามามีอำนาจใหม่ๆ ได้ประกาศเรื่องการปฏิรูปประเทศ เรื่องการปรองดองของคนในชาติ แต่เวลาผ่านมาเกือบ 4 ปี การปฏิรูปไม่สามารถสัมผัสได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสังคมลดความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่การปฏิรูปการเมืองก็มีการใส่วิธีการใหม่ๆ เข้าไปในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะตอบโจทย์เรื่องปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่
ในขณะที่เรื่องการปรองดอง ก็ยังเป็นเรื่องล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีอะไรที่ส่ง สัญญาณให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาหลักๆ ของประเทศลดลง
4.ปัญหาการแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน
ถึงแม้รัฐบาลจะโฆษณาว่าเศรษฐกิจโดยรวมดีอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงที่ประชาชนสัมผัสได้ ไม่ได้เป็นไปดังคำโฆษณา ประชาชนระดับฐานรากยังอยู่สภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง เศรษฐกิจฝืดเคือง เสียงบ่นระงมเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีมีทุกหย่อมหญ้า ซึ่งรัฐบาลก็คงทราบดี จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขแต่เกือบ 4 ปีก็ยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนไม่ได้ ก็ทำให้เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลยังอยู่ในช่วงขาลง
จากสาเหตุปัจจัยทั้ง 4 ประการที่ทำให้เกิดปัญหาส่งผลเป็นเงื่อนไขทำให้รัฐบาลและ คสช. อยู่ในสภาวะขาลงนี้ ถ้านายกฯ ไตร่ตรองทบทวนดูให้ดี และหาวิธีการแก้ไข ก็อาจจะมีส่วนช่วยให้สภาวะขาลงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปตามกลไกอำนาจต่างๆ โดยไม่ยอมแก้ไขก็ย่อมทำให้กลายเป็นสภาวะขาลงมากยิ่งขึ้น
ปัญหาซ้อนปัญหาจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติโดยรวมและไม่เกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้น
ทั้งนี้ตนจึงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดหยุดสภาวะขาลง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ด้วยดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมต่อไป