ไม่พบผลการค้นหา
คำถามข้อที่ 6 จาก 6 คำถามนายกฯ ที่คสช.หวังโยนระเบิดไปยังนักการเมือง-พรรคการเมือง แต่กลับกลายเป็นการสะท้อนจุดอ่อนของ 'รัฐบาลคสช.' เพราะพลิกบทบาทลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมืองเสียเอง

ประเด็นที่น่าสนใจทางการเมืองยังคงหนีไม่พ้น 6 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยวันนี้ (13พ.ย.) จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดรับความคำตอบจากประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานทุกเขตของกรุงเทพมหานคร แม้สัปดาห์ที่ผ่านมานักการเมืองและนักวิชาการได้ออกตัวตอบคำถามนายกฯ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การตั้งคำถามไปแล้ว แต่มีประเด็นหนึ่งที่แฝงอยู่ในคำถาม 6 ข้อของนายกฯ ที่กลับกลายเป็นการแสดงถึงจุดอ่อนของรัฐบาลออกมา คือ คำถามข้อที่ 6 ที่ถามว่า "ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่า คสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงาน ในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ?"

จากคำถามข้อที่ 6 ของนายกฯที่จะสื่อถึง คงหนีไม่พ้นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคสช. ซึ่งนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงานได้ติดใจในคำถามนี้มากที่สุด จากการที่ตนเคยวิจารณ์การทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.มาตลอด ที่ผ่านมาได้ใช้ข้อมูลตามความจริง หากคิดว่านักการเมืองบิดเบือนรัฐบาลก็ควรออกมาตอบโต้หรือชี้แจง ยกตัวอย่างเช่นแถลงการณ์ร่วมไทยสหรัฐที่ผ่านมา ที่ตนมีการต้นฉบับคำแถลงการณ์ร่วมของจริงจากทำเนียบขาวมายืนยัน , การเดินทางมาประเทศไทยของ 'มาร์ก เอลเลียต ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ที่ไม่มีกำหนดเดินทางมาประเทศไทย , อาลีบาบาย้ายการลงทุนจากไทยไปยังประเทศมาเลเซีย และอันดับความสะดวกการทำธุรกิจ ก่อนปฏิวัติที่ออกมาบอกว่าดีขึ้น แต่ความจริงอันดับแย่กว่าก่อนการรัฐประหาร 2557 โดยขณะนี้ความนิยมของนายกฯลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปยังประชาชนจริง

เช่นเดียวกับนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ติดใจในข้อ 6 เช่นกัน โดยจับข้อสังเกตจากคำถาม ที่ว่า "บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงาน ในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ" เพราะในระยะนี้รัฐบาลกำลังประสบภาวะหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการไม่รักษาคำพูด เรื่องการปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งที่กฎหมายมีการบังคับใช้แล้ว การใช้ม.44 ที่กระทรวงแรงงาน จนต้องยุบทีมออก และการจัดซื้อจัดจ้างหลายๆเรื่องที่ผ่านมา เหล่านี้เป็นเรื่องไม่เป็นความจริงก็ควรนำเอาความจริงมาให้ประชาชนได้รับทราบเพราะนายกฯมีอำนาจเต็มในการสั่งให้มีการตรวจสอบอยู่แล้ว จึงเป็นความพยายามให้ประชาชนมองว่านักการเมืองบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการโยนระเบิดให้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่วิจารณ์คสช.

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลจากนักวิชาการหลายๆคนมาสนับสนุนอย่างอาจารย์โคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มองว่า คสช.กำลังพลิกบทบาทลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมือง และในสถานการณ์นี้กำลังเป็นการแข่งขันระหว่างการเมืองในระบบการเลือกตั้ง 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ชี้ 'แจ็ค หม่า' ไม่เลือกไทย เป็นสัญญานประเทศล้าหลัง ไม่นานจะเป็น 'กบต้ม'

'พิชัย' จี้ 'สมคิด' แจงสาเหตุ 'มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก' ไม่มา ชี้เสียเครดิตซ้ำซ้อน

'พิชัย' เย้ย 'สมคิด' อันดับความสะดวกลงทุนของไทยดีขึ้น แต่ไม่มีคนมาลงทุนจริง!

นักวิชาการชี้ 6 คำถามมีแต่ผลเสีย สะท้อนความไม่มั่นใจของ คสช.