ไม่พบผลการค้นหา
การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 21 - 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันสัญลักษณ์ ครบรอบ 4 ปี คสช. แม้สุดท้ายจะไปไม่ถึงฝัน ไม่สามารถไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อปราศรัยอ่านแถลงการณ์ให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ได้

แม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี2562 แต่ก็มีความ ‘ไม่เชื่อมั่น’ เพราะ คสช. ได้ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ มาแล้วหลายครั้ง และอยู่ในอำนาจมาครบ 4 ปีเต็ม

สุดท้ายการชุมนุมถูกยุติลงหลัง 15 แกนนำถูกคุมตัวดำเนินคดี โดยจุดสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ‘ดาวกระจาย’ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมอีกส่วนที่ไม่ได้เข้าไปยัง ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้เดินมาถึงหน้าองค์การสหประชาชาติ เชิงสะพานมัฆวานฯ แค่เพียงข้ามสะพานไปก็คือทำเนียบรัฐบาลแล้ว

ทั้ง ‘โบว์’ ณัฏฐา มหัทธนา อานนท์ นำภา ได้อ่านแถลงการณ์การชุมนุม ก่อนที่มวลชนจะชู 3 นิ้ว แล้วตะโกนว่า “เลือกตั้ง เลือกตั้ง” โดยมี ‘2ป.กรมปทุมวัน’ ทั้ง ‘บิ๊กแป๊ะ’พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ ‘บิ๊กปู’พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ที่เป็นมืออำนวยการรับมือการชุมนุมฯครั้งนี้ มาฟังการอ่านแถลงการณ์และคุมตัวแกนนำขึ้นรถ ไปยัง สน.พญาไท จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้คุมตัว ‘จ่านิว’นายสิรวิญช์ เสรีธิวัฒน์ ‘โรม’นายรังสิมันต์ โรม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ไปยัง สน.ชนะสงคราม ทำให้การชุมนุมทั้ง 2 จุด ยุติลงทันที

แน่นอนว่า ‘ม็อบ’ คนอยากเลือกตั้ง สามารถ ‘ยกระดับ’ การชุมนุมได้สำเร็จ เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แทบไม่เคยปรากฏการชุมนุมที่จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ ทหาร-ตำรวจ มาดูแลมากขนาดนี้และตั้งกำแพงล้อมทำเนียบฯถึง 3 ชั้น

แต่สุดท้ายการชุมนุมก็ต้องยุติลง โดยจุดอ่อนสำคัญ คือ ‘ข้อเสนอ’ ที่ไม่แปลกใหม่และไม่ทันเกม คสช. และไม่มี ‘องคาพยพ’ ที่สำคัญ ที่จะทำให้ ‘ม็อบทรงพลัง’ ขึ้นได้

คนอยากเลือกตั้ง โบว์ ณัฏฐา 0180522_Sek_43.jpg

การชุมนุมจะทรงพลังได้ หากดูในอดีตจะต้องหวังพึ่งพลัง ‘ปัญญาชน – ชนชั้นกลาง’ ในการออกมาต่อรองทางการเมือง ทฤษฎี ‘2 นคราประชาธิปไตย’ ยังใช้อ่านสถานการณ์วันนี้ได้อยู่ ที่คนต่างจังหวัด คนรากหญ้า-ชนชั้นกลางตอนล่างเลือกผู้นำ

แต่คนล้มผู้นำคือชนชั้นกลาง-ปัญญาชนในเมือง ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การชุมนุมของกลุ่ม ‘พธม. – กปปส.’ ก็ล้วนสะท้อนโมเดลนี้ได้ดี และมี‘กองทัพ’ มาปิดจ็อบครั้งสุดท้าย ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจาก ‘เสียงระดับล่างถึงชนชั้นกลางตอนล่าง’ เพราะเป็นเสียงก้อนใหญ่ของประเทศ

ขณะที่ ‘ม็อบคนอยากเลือกตั้ง’ ขาดมิติผู้กุม ‘อำนาจต่อรอง’ คสช.ไป อีกทั้ง ไม่มีแนวร่วม ‘พรรคการเมือง’ ที่เป็นฝั่งต้าน คสช. อย่างชัดเจน ในการมาร่วมเดินขบวนหรือชุมนุม โดยเฉพาะจากพรรคที่มี ‘จุดยืน’ ต่อต้าน คสช. เอง เพราะฝ่ายการเมืองก็เกรงกันว่าจะถูกใช้เป็นเหตุ ‘ยุบพรรค’ เท่ากับว่าจะพากัน ‘ล้ม’ ไปทั้งขบวน

แม้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. แกนนำพรรคเสรีรวมไทย เดินทางไปยัง สน.ชนะสงคราม นำเงิน 1.5 ล้านบาทมา เพื่อขอประกันตัว 15 แกนนำ อีกทั้งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก็เดินทางมายัง สน.ชนะสงคราม เพื่อติดตามการดำเนินคดีแกนนำด้วยเช่นกัน ก็ทำให้ฝ่ายความมั่นคงจับตาไม่น้อย เกิดการเชื่อมโยงว่า ‘พรรคเหล่านี้’ จะอยู่เบื้องหลังและเป็น ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ หรือไม่ ?

คนอยากเลือกตั้ง-ชุมนุม-จ่านิว

ถือเป็นจุดสำคัญที่ ‘พรรคการเมือง’ เริ่มออกมา ต้องติดตามปรากฏการณ์ของ ‘พรรคต้าน คสช.’ กันต่อไป ว่าจะชั่งน้ำหนักอย่างไร กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะในอดีตเอง ‘ม็อบทรงพลัง’ ขึ้น เพราะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาสนับสนุนด้วย

ที่สำคัญสื่อบางสำนักปล่อยภาพ ‘โรม รังสิมันต์’ ไปพูดคุยกับ ‘แกนนำ คนเสื้อแดง’ ที่ห้างแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว โดยในภาพมี ‘เจ๋ง ดอกจิก’ แกนนำนปช. ยืนคุยกับ ‘โรม’ ด้วย ทำให้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า นายโรม ได้มาอัดเทปรายการ ‘50 คำถามกับสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ ตั้งแต่ 8 พ.ค.2561 ที่ สถานีโทรทัศน์ Peace TV ภายหลังการอัดเทป ‘เจ๋ง ดอกจิก’ ที่มาอัดรายการเพลงลูกทุ่ง ได้พบ นพ.สุรพงษ์ ได้ถามว่าเชิญใครมาสัมภาษณ์ จึงได้ตอบว่า ‘โรม รังสิมัตน์’ ทำให้ ‘เจ๋ง ดอกจิก’ ไปให้กำลังใจ ‘โรม รังสิมันต์’ขณะนั่งอยู่ในร้านกาแฟของสถานี

อีกทั้งมีการเผยแพร่ภาพที่ Peace TV กำลังมีการจัดเตรียมกล่องสีเขียว ที่เป็นอุปกรณ์ ‘หีบเลือกตั้ง’ ที่นำมาใช้ในการชุมนุม จึงมีการเชื่อมโยงว่า ‘ม็อบคนอยากเลือกตั้ง’ เกี่ยวข้องกับ ‘กลุ่มคนเสื้อแดง – นปช.’ หรือไม่ ? ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ทั้งหมด เพราะ ‘ม็อบคนอยากเลือกตั้ง’ เป็นที่หลอมรวมคนที่มีแนวคิด ‘ต่อต้านคสช.’ และต้องการให้มีการเลือกตั้งในปีนี้

หากถามว่า องค์กรระหว่างประเทศสามารถกดดัน ‘รัฐบาล – คสช.’ ได้มากขนาดไหน ฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่า กดดันได้ไม่มาก เพราะการเลื่อนเลือกตั้งไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และการชุมนุมก็มีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลมีแนวทางในการทำงานผ่าน ‘โรดแมป คสช.’

แต่สิ่งที่รัฐบาล ‘ระวัง’ คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นภาพการรับมือ ‘ม็อบเลือกตั้ง’ จึงต้องเป็นไปตามมาตรการสากล และห้ามให้เกิดการปะทะขึ้น เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชน ทางการไทยก็ถูกจับตาเรื่องนี้อยู่ เพราะถ้าเกิดการละเมิดที่รุนแรง ขึ้นก็อาจทำให้ ‘ม็อบจุดติด’ ได้ด้วย

อีกทั้งฝ่ายความมั่นคง มองว่า องค์กรตุลาการ ยังคงทำหน้าที่ยึดตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว 15 แกนนำ ตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท แต่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลปกครองจะยกคำร้องไม่คุ้มครองการชุมนุมก็ตาม

คนอยากเลือกตั้ง

ที่สำคัญช่วงก่อนและระหว่างการชุมนุม ฝ่ายความมั่นคงเองก็พยายามชี้ให้การชุมนุมครั้งนี้ ‘น่ากลัว’ มากขึ้น เพราะเกรงว่าจะมีพวก ‘เสื้อแดงฮาร์ดคอร์’ เข้าไปผสมโรงเป็นมือที่สาม เข้าไป สร้างสถานการณ์ด้วย หรือแม้แต่มีข่าวการจับอาวุธล็อตใหญ่ให้เห็น และพยายามชี้ว่าจับได้ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ แต่ก็ต้อง ‘ระวัง’ เพราะที่ผ่านมาก็มีกลุ่มฮาร์ดคอเข้ามาปะปนทำให้การชุมนุมเสียขบวน และดิสเครดิต คสช. ไปในตัวด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าหนทาง ‘ม็อบคนอยากเลือกตั้ง’ ไม่ได้โรยด้วย ‘กลีบกุหลาบ’ แต่มี ‘หนามกุลาบ’ ด้วย

การต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังไม่จบเพียงเท่านี้แน่นอน เพราะการชุมนุม 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็สามารถ ‘ยกระดับ’ และ ‘ติดปีก’ ได้ในระดับหนึ่งแล้ว

เป็น ‘บทเรียน’ ที่ทุกฝ่ายต้อง ‘ทบทวน’ ตัวเอง!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog