ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ติง 'ประยุทธ์' รู้อยู่แก่ใจ ไม่ต้องให้ศรีธนญชัยชี้ช่อง ด้านเลขาฯ จี้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมเลือกนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาถกเถียงกันแล้วว่าวาระ 8 ปี เริ่มเมื่อไหร่และจะจบลงเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ไม่ต้องให้ศรีธนญชัยคนที่สองคนที่สามคนที่สี่มาพูดกรอกหูอีก และเรื่องนี้ป่วยการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตีความเพื่อคนๆ เดียว เพราะควรจะไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญต่อประชาชน และประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่า

"สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ การที่ นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศที่ขาดสัจจะ และ หิริ โอตตัปปะ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป ไม่สมควรอยู่ในอำนาจอีกต่อไป นี่คือหลักการที่เป็นสากล ผู้นำที่ประเทศพัฒนาแล้วควรต้องมี ช่วงเวลานึ้จึงเหมาะสมแล้วที่ประยุทธ์จะเลือกก้าวลงจากหลังเสืออย่างไร้ความกังวล ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปเถอะครับ โดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ ตนเป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นอีกโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การดันทุรังต่อไปย่อมไม่มีประโยชน์ต่อสังคมไม่ว่าประการใดๆ" บุญแทนกล่าว


จี้ประธานรัฐสภาเปิดประชุมเลือกนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจเลือกหนทางยุบสภา เพื่อเป็นนายกฯ รักษาการในช่วงการประชุม APEC ในปลายปีนี้ แต่ตนคิดว่าประยุทธ์ไม่มีความเหมาะสมที่จะเชื่อมประสานสุดยอดผู้นำโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสันติภาพ เนื่องจากขาดศักยภาพและคณะทำงานมืออาชีพ เพราะบริหารประเทศเหมือนขายของเด็กเล่น ทีมทำงานก็ใช้แต่ผู้ที่ตนเองรักและไว้ใจแต่ไม่มีฝีมือ ซ้ำร้ายใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ มา 2 ปีกว่าซึ่งขัดธรรมาภิบาลและกฎหมายระหว่างประเทศ

"ผลงานเด่นของรัฐบาลประยุทธ์ คือการสร้างความเหลื่อมล้ำและเจ้าสัวคนใหม่ ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลบริหารเศรษฐกิจอย่างไรให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดการสัมปทานและต่อสัญญาโครงการต่างๆ ให้อภิมหาเศรษฐีมากมายในยุครัฐบาล คสช. ผืนแผ่นดินไทยกลายเป็นเค๊กก้อนใหญ่ที่รัฐบาลโยนมีดให้นายทุนเลือกเฉือนท่ามกลางหยดเลือดของประชาชน

ทุกสัญญาสัมปทานต้องเปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนรับทราบเข้าถึงได้ เรื่องหนึ่งที่คลางแคลงใจและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผมขอให้รองวิษณุช่วยเปิดเผยสัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้า 20 ปีที่บริษัทเอกชนทำสัญญาผูกชาดกับ กฟผ. โดยมีการประกันราคา อยากทราบว่าเกี่ยวกับการปล้นกระเป๋าคนไทยและค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นหรือไม่" เมธา กล่าว

เมธา กล่าวว่า ส่วนเรื่อง 8 ปีนายกฯ นั้น เป็นเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นต่อได้ต้องออกพระราชบัญญัติล้างมลทินเท่านั้น แต่มีความพยายามโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวินิจฉัยตีความ แต่ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจเพราะถือเป็นการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

การโยนหินถามทางให้นับตั้งแต่ 2560 หรือ 2562 ล้วนเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจโดยการงดเว้นรัฐธรรมบางมาตรา ซึ่งจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ซ้ำรอยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นจุดด่างพร้อยของประชาธิปไตยไทยมาจนถึงปัจจุบัน สุดท้ายพระยามโนปกรณ์ถูกรัฐประหารขับออกจากตำแหน่ง

"สิ่งที่ทุกฝ่ายควรรับผิดชอบชาติบ้านเมืองก็คือ ประธานรัฐสภา ควรจะต้องเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแคนดิเดตนายกฯ ที่เหลืออยู่ 5 คนเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารเงียบ โดยการงดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา การร่วมรับผิดชอบชาติบ้านเมืองเป็นคุณธรรมจริยธรรมสูงสุดของนักการเมือง ซึ่งถ้าขาดหายไปแล้วจะทำให้บ้านเมืองไปต่อได้ยากยิ่ง แต่ทุกวันนี้เราคุยกันเรื่องขัดต่อกฎหมายหรือไม่ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ต่ำที่สุดในการประกันการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม" นายเมธา กล่าว

โดย ครป. และเครือข่าย 99 พลเมืองและปัญญาชน จะจัดเวทีวิเคราะห์การเมืองไทยหลังเงื่อนไข 8 ปีนายกฯ และชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ ในวันพรุ่งนี้ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ