วันที่ 20 ส.ค. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่าย 99 พลเมือง จัดเวทีสาธารณะ 'วิเคราะห์การเมืองไทยหลังเงื่อนไข 8 ปีนายกฯ และชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์' ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงาน 99 พลเมือง
พิชาย กล่าวว่า หนทางในระหว่างระยะเวลาที่เหลืออยู่ของนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะครบวาระ 8 ปี ของท่านในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ทางแรก คือ ประกาศยุติการดำรงตำแหน่งด้วยตัวเอง มีข้อดี หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนักการเมืองที่ดี ในงานทางการเมืองที่ดีขึ้นมาอีกคนในสังคมไทย เพราะเป็นการเคารพเจตนารมณ์ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อเสียทางลงจากตำแหน่งนั้น อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง คือ การหลุดพ้นจากอำนาจในทันที ตนอยากให้ท่านยกหลักธรรม ไตรรัตน์ มาไตร่ตรองให้มาก และมองความเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลไม่แน่นอน อย่ายึดติดในตำแหน่ง เพราะหากอยู่นานก็จะมีความทุกข์ และทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา
หากเลือกการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ออกไปอีก 4-5 เดือน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและรับรองผล ซึ่งถ้ามองถึงการปฏิบัติหน้าที่ ในการเป็นประธานการประชุม สุดยอดผู้นำเอเปค ต้องยอมรับว่าท่ามกลางความขัดแย้งโลก ระหว่างการประชุมจะมีการแสดงท่าที และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศผู้จัดประชุมด้วย
“การจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศอีกทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการยุบสภา จะทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงนั้นไม่พอใจ จากการวิเคราะห์แล้วอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เลือกทาง ที่ 1 มากกว่า เนื่องจากรักษาการนายกฯจะเป็นพลเอกประวิตร”
หากเลือกการอยู่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ตามเงื่อนไขคิดว่า ศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่วันที่ 24 ส.ค. เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียในการปฏิบัติหน้าที่ตามมา จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งสามารถช่วงชิงอำนาจทางการเมือง และอาจทำให้เกิดปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย เช่น คดีที่ผ่านมาในอดีต ต้องยอมรับว่าขณะนี้ นายกฯมีอาการเครียด กังวลอะไรบางอย่าง เห็นได้ว่าไม่นิ่งระหว่างแถลงข่าว ไม่มีการวางอำนาจเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา
พิชาย กล่าวว่า หากศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกจดจำในประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกสั่ง ให้พ้นจากตำแหน่งด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถรักษาการ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และหากพล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาการต่อ ตนเชื่อว่าจะเกิดหายนะแน่นอน
ด้าน สมชัย กล่าวว่า ตนขอยกอริยสัจ 4 ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่ใช่ประชาชน ซึ่งกังวลว่าจะสามารถ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของประเทศต่อไปได้หรือไม่ โดยสาเหตุแห่งทุกข์ เกิดจากรัฐธรรมนูญตามมาตรา 158 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องกัน 8 ปีไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการผูกขาดอำนาจ ที่ไม่ใช่วิธีการทางรัฐสภา การดำรงตำแหน่ง 8 ปี มาจากการยึดอำนาจ 4 ปีกว่า และอีก 3 ปี มาจากการฉ้อฉลอำนาจ ดังนั้นตนขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องปล่อยวาง แล้วท่านจะเป็นสุข พ้นจากทุกข์ทันที
สมชัย กล่าวว่า กรณีที่ส.ส.เข้าชื่อยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.เมื่อศาลรับคำร้อง จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยหากมีคำสั่งศาล หยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดอย่างไม่มีเงื่อนไข 2. หากศาลไม่สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคาดการณ์ว่า ศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เนื่องจากเป็นเพียงการพิจารณาด้านข้อกฎหมาย
แต่หากศาลมีคำวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถอยกลับมา ให้วันที่ 24 ส.ค. เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีจะต้องคืนทั้งหมด ส่วนใครจะเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นเป็นเรื่องของ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รักษาการแทน จนกว่าที่ประชุมรัฐสภา จะประชุมเพื่อตกลงกันว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
“หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ผลร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น คือ จะเป็นการสร้างสถานการณ์ ที่เลวร้ายต่อบ้านเมือง ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว กลุ่มก้อนองค์กรต่างๆ ภาคต่างๆในสังคมจะเริ่มแสดงออก ทั้งนักวิชาการ กลุ่มองค์กรเอกชน ซึ่งคาดการณ์ได้ยากว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง” นายสมชัย กล่าว
ขณะที่ เยี่ยมยอด กล่าวว่า กรณี 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นวิกฤติกระแสหลัก เนื่องจากว่าเคยประกาศว่า จะมีการปฏิรูปการเมือง แต่ระยะเวลา 7 ปีมานี้ กลับไม่มีการทำอะไรเลย ไม่เจตนาที่จะปฏิรูป ไม่เจตนาที่จะเอาฟืนออกจากกองไฟ แต่กลับตรงข้าม บางเรื่องตอกลิ่มลงไปอีก เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่พล.อ.ประยุทธ์อยู่ 8 ปี กลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นเมื่อพล.อ.ประยุทธ์มาเป็น ศูนย์กลางของความขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ที่ตัวท่านจะขจัดปัญหานี้ ทางแก้ปัญหานี้มี 2 ทางคือ ฝ่ายค้านก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์หมดวาระ หรือพ้นสภาพไปโดยไม่มีเงื่อนไข พรรคการเมืองต้องรีบถอนตัว ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ขณะที่ พท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า พวกเราประชาชนทุกคน ถูกกดหัวในเรื่องค่าไฟฟ้า และราคาพลังงาน ปล่อยให้ค่าก๊าซลอยตัว พวกที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รวยอู้ฟู่กำไรเป็น 1,000 เท่า สมรู้ร่วมคิดกันขึ้นค่าไฟ ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้า จากอันดับ 10 ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 จนตอนนี้เป็นอันดับ 1 ของประเทศแล้ว บนความลำบากยากจนของประชาชน
“ประเทศไทยมีจุดอ่อนหลายอย่าง เมื่อเห็นอำนาจเห็นสมบัติ หรือผลประโยชน์ ที่สามารถที่จะร่วมกันกอบโกยได้ ก็จะหลงอยากจะเสวยสุขต่อไป โดยที่ไม่ได้คำนึงว่า พี่น้องประชาชนร่วมชาติ จะเดือดร้อนอย่างไร อยากสื่อไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ว่า 8 ปีน่าจะพอแล้ว ให้คนอื่นทำงานบ้าง ประชาชนควรจะมีความสุข จากผู้นำที่เขาเลือกมากกว่า” พท.พญ.กมลพรรณ กล่าว
ส่วน เมธา กล่าวว่า การเมืองไทยปฏิรูปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราติดกับดัก ของวัฏจักรรัฐประหารทั้งปี 2549 และปี 2557 ดังนั้นในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ว่าเราติดหล่มกับดักอำนาจนิยมอย่างไร วันนี้ชัดเจนว่าผลพวงที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งท่ามกลางความล้มเหลว ประชาชนเห็นจากการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์และพวก จะมองไม่เห็นปัญหานี้ แต่เชื่อว่าประชาชน ทุกภาคส่วนเห็นปัญหาร่วมกัน ดังนั้นหลังแถลงการณ์ 99 พลเมืองออกมา ขอให้ทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพร่วมกันเรียกร้อง แม้กระทั่งคนที่ไม่เคย ออกมาตำหนิรัฐบาล ในเรื่อง 8 ปี ก็เห็นพ้องร่วมกันว่าถึงเวลา ที่ต้องเสียสละ
เลขาครป. กล่าวว่า ความจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะเปิดรัฐสภาให้แก้ไข ปัญหาวิกฤติการเมือง ซึ่งจะได้รับการชื่นชมยกย่อง จากทุกภาคส่วนของประเทศ และเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้านายกฯไม่เลือกการยุบสภา หรือลาออกก่อน และขณะเดียวกันการชุมนุมของพี่น้องประชาชน จะตามมาอีกหลายส่วน ถ้านายกฯไม่เลือกเสียสละเพื่อบ้านเมือง ดังนั้นหลังวันที่ 24 ส.ค. หากท่านไม่เลือก เส้นทางที่ลงหลังเสืออย่างสง่างามแล้ว ประชาชนคงจะกำหนด ชะตากรรมให้ท่านเอง