ไม่พบผลการค้นหา
'กัณวีร์' จี้กลาโหม-บัวแก้วจัดการ ประชาชนหวาดกลัว ทหารเมียนมารุกล้ำชายแดน จ.ตาก

วันที่ 12 ก.ย. 2566 กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่าได้รับเรื่องด่วนจากประชาชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ห่วงใยต่อ สถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่เกี่ยวข้องกับการรุกล้ำข้ามแดนเข้ามาในไทยโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในเครื่องแบบ จึงตั้งคำถามไปยัง รมว.กระทรวงกลาโหม ว่าทราบเรื่องหรือไม่

กัณวีร์ กล่าวว่า ทหารไทย ต้องวางตัวเป็นกลาง การปล่อยให้ทหารเมียนมาเข้ามาในดินแดนไทย ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคู่ขัดแย้ง 

กัณวีร์ เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานชายแดนไทย-เมียนมา ที่ได้รับร้องเรียนมาจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และพี่น้องคนไทยในพื้นที่บ้านเลตองคุ และมอตะหลั่ว พบเห็นทหารเมียนมา จำนวน 80-100 คน พร้อมอาวุธครบมือ เข้ามาในพื้นที่ช่วงเวลา 13.30 น.วันที่ 4 ก.ย.66 โดยได้พักกินข้าวบริเวณทุ่งนาชาวบ้าน ห่างจากที่พักอาศัยชาวบ้านเพียงราวไม่ถึง 1 กม. โดยมีรายงานว่าทหารกลุ่มนี้ถูกส่งมาเพื่อไปสมทบกับทหารเมียนมาในฐานฝั่งตรงข้ามเปิ่งเคลิ่ง ซึ่งกำลังถูกล้อมโดยทหารกะเหรี่ยง โดยชาวบ้านเลตองคุได้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน และ ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งต่อทางอำเภอในบ่ายวันที่ 3 ก.ย.แล้ว

โดยขณะนั้นมีทหารไทยที่ประจำอยู่ในตัวหมู่บ้านเลตองคุ แต่ทหารไทยไม่ได้ออกมาทำอะไรเนื่องจากมีจำนวนน้อย และรอคำสั่งนาย ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้มีคำสั่งอะไรลงมา 

จนกระทั่งในวันที่ 5 ก.ย. ตอนเช้า เริ่มพบว่าคนไทยมีการโพสต์โซเชียลมีเดีย ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และตอนบ่าย กองกำลังนเรศวรเพิ่งเข้าพื้นที่ หลังจากทหารเมียนมาค้างในไทยเป็นเวลา 2 คืน 

มีรายงานว่ากองกำลังนเรศวรไปเจรจากับทหารเมียนมา ให้ออกไป แล้วก็ไปเจรจากับ KNLA (KNU) ให้เปิดทางให้ ซึ่งทางKNLA ได้ยอมเปิดทางให้เนื่องจากเกรงใจทหารไทย แต่ทหารเมียนมาไม่ยอมออก จึงต้องไปเจรจาอีกครั้ง จนกระทั่งยอมออกไปเมื่อเวลา 14.00 น.

จากนั้นวันที่ 9-10 ก.ย. ทหารเมียนมาบางส่วน ซึ่งเมื่อออกไปก็อยู่ห่างจากชายแดนเพียง 500 เมตร ได้เข้ามาซื้อหาอาหารที่บ้านเลตองคุ โดยการมาซื้อถืออาวุธครบมือมาด้วย และชาวบ้านได้แจ้งต่อผู้ใหญบ้าน 

กัณวีร์ เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคม และจะนำมาตั้งคำถามถึง รมว.กระทรวงกลาโหม และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เร่งตรวจสอบและชี้แจงในวาระอันใกล้นี้

1. การปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนไทยบริเวณชายแดน ซึ่งทหารไทยใช้เวลาถึง 2 วันหลังรับแจ้งเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ หากเป็นเหตุเกิดกับคนไทยในเมือง จะใช้เวลานานอย่างนี้หรือไม่

2. การคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการเจรจากับ KNLA จำเป็นต้องทำ แต่หากทำแบบนี้บ่อย ๆ จะเป็นการแสดงตนไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวพันกับการสู้รบด้วยการเจรจาให้ฝ่ายหนึ่งเปิดทางให้ฝ่ายหนึ่ง

3. การที่ทหารเข้ามาซื้อของ ปกติแล้วเกิดขึ้นตลอดพรมแดน ไม่ว่าจะทหารฝ่ายใดก็ข้ามมาซื้อของได้ แต่จะต้องไม่ถืออาวุธเข้ามา

4. ทหารไทยอาจอ้างว่า การเจรจาตอนนี้เป็นไปได้ยากเนื่องจากประธานคณะกรรมการชายแดน TBC ฝ่ายเมียนมา คือ พ.ท.อ่องจอมิน เพิ่งเสียชีวิตจากการวางระเบิดที่สถานีตำรวจเมียวดี เมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน (พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี) 

กัณวีร์ เห็นว่า การที่ละเมิดอธิปไตยโดย "กองทหารจำนวนเกือบร้อย" เป็นประเด็นระดับประเทศ ไม่ใช่ระดับชายแดน พร้อมระบุว่า

ประเด็นนี้ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาคือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหลัก จะต้องไม่ใช่เรื่องทหารต่อทหาร แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงในสื่อภาษาเมียนมาและกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่ง สร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวพม่าและกะเหรี่ยงว่า รัฐไทยวางตัวเข้าข้างกองทัพเมียนมาหรือไม่ หากไม่แก้ไข จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้อีก

"ไม่เห็นนโยบายรัฐบาลใดๆ พูดถึงเรื่องนี้ น่าเสียดายจริงๆ ครับ คงต้องตรวจสอบกันให้ลึก เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยบริเวณชายแดน รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์" กัณวีร์ กล่าวย้ำ