ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยยูนิเซฟเผย เด็กกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกถูกทำโทษด้วยการตบตี แต่วิธีนี้อาจทำให้เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเมื่อโตขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศบังคับใช้กฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยการตบตี

ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาจำนวนมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สนับสนุนการทำโทษเด็กเพื่อควบคุมพฤติกรรมและสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย เห็นได้ชัดเจนจากหลายประเทศมีสำนวนเกี่ยวกับการทำโทษว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่เสียคน กรณีของไทยซึ่งคนในสังคมเคยได้ยินบ่อย คือ 'รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี'

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการทำโทษเด็กด้วยวิธีตบตีเริ่มขยายวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลกเช่นกัน หลังมีรายงานบ่งชี้ว่าการทำโทษเด็กด้วยการตบตี ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และทำให้เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเมื่อเติบโตขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ คลอเดีย แคปปา นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูนิเซฟ ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานสถานการณ์เด็กทั่วโลกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2-4 ปี รวมกว่า 300 ล้านคนในประเทศต่างๆ มักถูกทำโทษเพื่อสั่งสอนเรื่องความประพฤติ และเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

รายงานของยูนิเซฟระบุว่าการทำโทษเด็กเป็นการใช้กำลังทางกายภาพ มีทั้งการตบหรือตีตามร่างกายส่วนต่างๆ ของเด็ก การใช้ไม้เรียวหรืออุปกรณ์อื่นๆ ฟาดหรือเฆี่ยน รวมถึงการเขย่าตัวหรือหยิก ซึ่งผู้ปกครองบางส่วนอาจใช้หลายวิธี ควบคู่ไปกับการอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้เด็กต้องถูกทำโทษ 

แคปปาเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า บางประเทศมีความเชื่อว่าผู้ที่ทำโทษเด็กด้วยการตบตีมักเป็นผู้ปกครองในครอบครัวที่ฐานะยากจนและไม่ได้รับการศึกษาในระดับสูง แต่ผลวิจัยที่สำรวจในผู้ปกครองมากกว่า 1,100 ล้านคนในกลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ พบว่าครอบครัวที่ฐานะดีก็ใช้วิธีตบตีเพื่อทำโทษเด็กไม่แตกต่างจากครอบครัวที่ฐานะยากจน 

กราฟิก ประเทศห้ามตีเด็ก.jpg

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า สวีเดนเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามทำโทษเด็กด้วยการตบตีตั้งแต่ปี 2522 และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายใกล้เคียงกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ยูนิเซฟรณรงค์ต่อต้านการทำโทษเด็กด้วยการตบตีหรือใช้กำลังเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา

จนกระทั่งปัจจุบัน มี 60 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกที่มีกฎหมายห้ามตบตีเด็ก แต่แคปปาระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ช่วยให้การตบตีเด็กลดลงมากนัก เพราะประเทศต่างๆ ยังมีค่านิยมว่าผู้ปกครองหรือครูอาจารย์มีสิทธิทำโทษเด็กเพื่อให้เกิดระเบียบวินัย

ผลวิจัยของ กรอกัน เคย์เลอร์ และเอลิซาเบ็ธ แกร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออสตินในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เรื่องการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการทำโทษด้วยการตีเด็ก มีการสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 160,927 คน พบว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าการทำโทษเด็กด้วยการตบตีทำให้เด็กมีผลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง

แต่กลับพบว่าการใช้กำลังทางกายภาพกับเด็กเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่า เนื่องจากเด็กที่ถูกทำโทษด้วยการตบตีเป็นประจำมีแนวโน้มจะก้าวร้าว มีปัญหาทางจิต และใช้กำลังกับผู้อื่นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

อ่านเพิ่มเติม: