นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ที่ผ่านมานั้น กสร. ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบกิจการเพื่อกำกับ ดูแล และตรวจติดตามการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราใหม่ของสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่พบว่ายังมีการจ่ายค่าแรงไม่เป็นตามอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำใหม่ พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมายทันที โดยต้องเริ่มจ่าย ในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
แต่หากออกคำสั่งแล้วนายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 90 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนายจ้างรู้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจ้างรู้สิทธิของตนเองมากขึ้น และ ยังไม่ถึงรอบของการจ่ายเงินของนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นรายเดือน และราย 15 วัน ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจติดตามอีกครั้งในช่วงใกล้รอบการจ่ายเงินเดือนของสถานประกอบกิจการ
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ แต่หากไม่สะดวก หรือไม่มีเวลา ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่าน www.labour.go.th
ข่าวเกี่ยวข้อง :
ครม.เคาะค่าจ้างขั้นต่ำ 308-330 บาท ตามมติบอร์ดค่าจ้างกลาง
ค่าแรงขั้นต่ำขยับดันต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.4%