วันนี้ (12 ธ.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม.มีมติเสนอให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทยต่อหลักสิทธิมนุษยชน และเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
โดยประเด็นที่อยากให้แก้ไข ได้เสนอส่งให้รัฐสภาและอีกหนึ่งประเด็นเสนอครม. ซึ่งจะทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.และพล.อ.ประยุทธ์ จนทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์นี้
สำหรับข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1 ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ทีได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายดังกล่าว ในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนเสนอความเห็น ข้อกังวล เป็นรายมาตราอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน
2 รัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 36 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น และต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม
3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 มาตรา 43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น
และ 4 คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมือง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่งคสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ทีประเทศไทยเป็นภาคี และสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ หลังปี 2558-2573
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นและมีหนังสือสอบถามความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม 7 ครั้ง แต่ช่องทางการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบตามกฎหมาย มีเพียงการรับฟังผ่านเวปไซด์ของการนิมคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-5 มิ.ย. 60 มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นเพียงสี่คน ทั้ง ๆ ที่ร่างกฎหมายนี้จะต้องใช้ในพื้นที่สามจังหวัดที่มีประชาชนซึ่งมีความหลากหลายอาชีพอาศัยอยู่จำนวนมาก การเปิดรับฟังความเห็นดังกล่าวจึงอาจไม่กว้งขวางเพียงพอ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 43
ดังนั้นเมื่อร่างกฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระสองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากนำข้อเสนอแนะของกสม.ไปพิจารณาจะทำให้เกิดความรอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาของรัฐ สร้างความยั่งยืนปราศจากความขัดแย้งจากทุกภาคส่วน และไม่กระทบต่อกระบวนการออกกฎหมาย เพราะสนช.มีมติให้มีการขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปอีกหกสิบวัน ทั้งนี้หากทำข้อเสนอแนะไปแล้วไม่มีการปฏิบัติตาม กสม.ก็จะต้องนำข้อมูลออกมาเผยแพร่เพื่อฟ้องประชาชน-