นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) ทุกชนิดราคา เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยได้รับพระราชทานวันออกใช้ธนบัตร แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ออกใช้ในวันจักรี 6 เม.ย. 2561
ส่วนชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท จะออกใช้ในคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 ก.ค. 2561
สำหรับธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) มีแนวคิดเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ดังนั้น บนด้านหน้าของธนบัตรแบบ 17 จึงได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา
ส่วนด้านหลังธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ประทับบนธนบัตร เรียงตามลำดับรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 10 โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย
ทั้งนี้ ธนบัตรแบบ 17 นี้ มีขนาดและโทนสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16 สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ยังคงลักษณะสำคัญของธนบัตรไทยไว้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ปรับปรุงใหม่ในบางส่วนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่
1.แถบสีโลหะ ปรากฏที่ด้านหน้าของธนบัตร และในชนิดราคา 100 บาท ภายในแถบสีมีการเคลื่อนไหว
2.หมวดอักษรโรมันและเลขหมายอารบิก ปรับวางตามแนวตั้ง
อีกทั้ง ประชาชนจะสามารถเบิกถอนธนบัตรแบบใหม่นี้ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งที่เคาน์เตอร์ธนาคาร และตู้เอทีเอ็ม
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำว่า ธนบัตรทุกแบบที่ ธปท. ประกาศออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธปท. ไม่มีนโยบายยกเลิกธนบัตรเดิม นอกเสียจากธนบัตรมีการชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมสภาพจึงจะถอนออกมา
“โดยทั่วไปธนบัตรจะมีสภาพใช้งานนานราว 3 ปี ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะสามารถใช้ธนบัตรแบบ 16 หรือแบบเดิมได้ตามปกติต่อไป อย่างไรก็ดี ในยุคที่มีการใช้เงินสดน้อยลง เป็น cashless society ก็เห็นว่า อัตราการพิมพ์ธนบัตรหมุนเวียนเพิ่มอยู่ในระดับชะลอลง” นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีธนบัตรหมุนเวียนทุกชนิดราคาในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 5,500 ล้านฉบับ