จากกรณีที่การถอดเก้าอี้รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ ไม่ได้มีการรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานนั้น
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของ BEM ทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย และต้องเสียเวลา จึงเรียกร้องให้ รฟม. รีบดำเนินการตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับ BEM ว่ามีการกำหนดจำนวนผู้โดยสารนั่งและผู้โดยสารยืนต่อขบวนไว้หรือไม่
นอกจากนี้ควรเร่งรัดให้ BEM เพิ่มตู้หรือขบวนรถไฟฟ้า โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น ควรเพิ่มจำนวนตู้จาก 3 ตู้ เป็น 4 ตู้ต่อขบวน เพราะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 300,000 คนต่อวันเพราะตลอดระยะเวลาการเดินรถ 13 ปี ที่ผ่านมา BEM ก็ยังคงใช้จำนวนขบวนรถไฟฟ้าเท่าเดิมคือ 19 ขบวน ต่างกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งมีผู้โดยสารน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินมาก กล่าวคือ มีประมาณ 50,000 คนต่อวัน แต่ BEM ใช้รถไฟฟ้าถึง 23 ขบวน
ดร.สามารถ ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับ BEM ว่า มีการกำหนดความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ หลังพบว่า BEM ตัดการเดินรถจากสถานีหัวลำโพงถึงเตาปูน เหลือสิ้นสุดแค่สถานีสวนจตุจักร ไม่วิ่งต่อไปถึงสถานีเตาปูน แล้วกลับไปรับผู้โดยสารที่สถานีพหลโยธิน (ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว) เพื่อขนผู้โดยสารเข้าเมือง
โดยจะทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 3 ขบวน พอถึงขบวนที่ 4 จึงจะวิ่งไปจนถึงสถานีเตาปูน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนในตอนเช้าผู้โดยสารที่สถานีสวนจตุจักรต้องรอรถไฟฟ้าเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีกำแพงเพชร บางซื่อ หรือเตาปูนได้ เป็นผลให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลา
ในทิศทางกลับกัน ผู้โดยสารที่สถานีเตาปูนที่เดินทางมากับรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ต้องรอรถไฟฟ้าใต้ดินนานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีบางซื่อ กำแพงเพชร หรือสวนจตุจักรได้ ทำให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลาเช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟม.สั่ง บีอีเอ็ม ส่งแผนถอดที่นั่งรถไฟฟ้า