ไม่พบผลการค้นหา
ผลโพลล่าสุดระบุ พรรคผสมฝ่ายค้านของมหาเธร์เสียงดีกว่าพรรคร่วมรัฐบาลแต่ระบบเลือกตั้งไม่เอื้อ คาดพรรคอัมโนของนาจิบจะกำชัย แต่นักวิเคราะห์ชี้ รัฐบาลชนะไม่มากจะยิ่งไม่ได้รับการยอมรับ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมอร์เดก้า เซ็นเตอร์ ผู้ทำโพลอิสระของมาเลเซียประกาศผลการสำรวจความเห็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งล่าสุดปรากฎว่าพรรคผสมฝ่ายค้านที่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยได้คะแนนเพิ่มขึ้นและเป็นฝ่ายขึ้นนำ โดยผลสำรวจล่าสุดเก็บตัวอย่างจากภาคตะวันตกของประเทศซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงร่วม 75% ของประเทศทำให้คาดการณ์ได้ว่า พรรคผสมฝ่ายค้านพาคาตัน ฮาราปันของน.พ.มหาเธร์น่าจะได้เสียงรวม 43.7% ขยับเพิ่มจากการสำรวจหนก่อนที่คาดว่าจะได้ 42% ขณะที่พรรคอัมโนของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีนั้นคาดว่าจะได้คะแนนเสียงรวม 40.3% ลดลงเล็กน้อยจากโพลหนก่อนที่คาดไว้ว่าจะได้ 40.8% 

อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งของมาเลเซียเป็นระบบใครได้เสียงมากที่สุดในเขตเลือกตั้งจะได้เป็นส.ส. ไม่ใช่ระบบที่นับจำนวนคะแนนเสียงภาพรวมหรือป๊อปปูลาร์โหวต เช่นในการเลือกตั้งปี 2013 อัมโนได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตรวม 47.3% แต่ได้ที่นั่งส.ส. 60% จึงชนะเลือกตั้ง แต่ชัยชนะดังกล่าวก็ยังกลับกลายเป็นความเพลี่ยงพล้ำเพราะคะแนนรวมป๊อปปูลาร์โหวตที่ได้ไม่ชนะขาด รอยเตอร์ระบุว่า หากผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.นี้ออกมาปรากฎว่า พรรคอัมโนได้ป๊อปปูลาร์โหวตน้อยกว่าในการเลือกตั้งหนก่อนหน้า นั่นก็จะยิ่งทำให้เกิดคำถามต่อภาวะการเป็นผู้นำของนายนาจิบมากยิ่งขึ้น

ส่วนคะแนนเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านพาคาตัน ฮาราปันที่เพิ่มขึ้นนั้น เมอร์เดก้า เซ็นเตอร์อธิบายว่า เป็นคะแนนเสียงที่ดึงมาได้จากเสียงสนับสนุนของพรรคปาส พรรคฝ่ายค้านใหญ่อีกรายที่แข่งกับพรรคอัมโนมาโดยตลอด ส่วนปัญหาว่าพรรคใดจะได้ที่นั่งเท่าไหร่นั้น อิบราฮิม ซูเฟียน ผู้อำนวยการเมอร์เดก้า เซ็นเตอร์ยอมรับว่ากลุ่มไม่อาจพยากรณ์ได้เพราะระบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อนมากขึ้น 

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการเลือกตั้งของมาเลเซียได้จัดระบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกลุ่มพรรคฝ่ายค้านและนักวิเคราะห์ต่างระบุว่า เป็นระบบที่จะให้คุณกับพรรคอัมโนมากกว่ากลุ่มอื่น แต่คณะกรรมการเลือกตั้งยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระทำโดยอิสระ ไม่ได้มีเป้าหมายให้คุณกับกลุ่มใดเป็นพิเศษ

เว็บไซต์ข่าวฟรีมาเลเซียทูเดย์อ้างข่าวรอยเตอร์ที่สำรวจคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลอย่างเช่นในเกาะบอร์เนียวว่า พื้นที่ในชนบทมักเป็นฐานเสียงอันแน่นหนาของพรรคอัมโน เนื่องจากมีการตอบแทนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงมาช้านานในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นเสียงของคนเหล่านี้จะมีส่วนทำให้อัมโนได้ชัยชนะ ในขณะที่เสียงของผู้คนในเมืองใหญ่ต่างไม่พอใจกับนายนาจิบเพราะปัญหาที่เขาตกเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีทุจริตกองทุน 1MDB และน่าจะเทให้กับมหาเธร์แทน

เป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันดุเดือดและเป็นการจับคู่ทางการเมืองที่แปลกที่สุดก็ว่าได้


การหย่อนบัตรในวันที่ 9 พ.ค.นี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย เป็นการเลือกตั้งที่เว็บไซต์เดอะดิโพลแมทระบุว่า มีการแข่งขันกันดุเดือดและเป็นการจับคู่ทางการเมืองที่แปลกที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากหนนี้นายนาจิบ ผู้นำพรรคอัมโนจะต้องขับเคี่ยวกับนักการเมืองที่เคยอยู่ค่ายเดียวกันถึงสองคน คือ น.พ.มหาเธร์กับนายอันวาร์ อิบราฮิมที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัย น.พ.มหาเธร์ 

นพ.มหาเธร์นั้นลาออกจากพรรคอัมโนที่เขาเป็นส่วนหนึ่งมาถึง 22 ปีเพราะไม่พอใจนายนาจิบในสิ่งที่เขาบอกว่าเป็นปัญหาการทุจริต ส่วนนายอันวาร์ซึ่งต้องติดคุกเพราะ น.พ.มหาเธร์นั้น เขาต้องกลับเข้าคุกอีกครั้งด้วยข้อหาที่พิเศษกว่าเดิม ในการเลือกตั้งหนนี้นายอันวาร์สนับสนุนให้มหาเธร์แข่งขันกับนายนาจิบ 

บทวิเคราะห์ในดิโพลแมทที่เขียนโดยซาคารี อะบูซา แห่งวิทยาลัยเนชั่นแนลวอร์ในกรุงวอชิงวตัน ดีซี อ้างว่า มีความเป็นไปได้ว่าพรรครัฐบาลใช้เงินจำนวนหนึ่งจากที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกมาจากกองทุน 1MDB ไปใช้ปูทางให้กับการเลือกตั้งให้กับตัวเอง และเรื่องนี้เองที่เป็นจุดอ่อนของอัมโน เพราะว่าคนของพรรคจำนวนไม่น้อยนอกจากจะยังมีใจเหนียวแน่นให้กับมหาเธร์แล้ว พวกเขา ตลอดจนคนเชื้อสายมลายูอีกจำนวนมากยังรู้สึกว่าปัญหาทุจริตกองทุน 1MDB นั้นไปไกลเกินไป ผู้นำรัฐบาลคือนายนาจิบใช้วิธีการต่างๆนานาๆในอันที่จะทำให้คนเอื้อมไม่ถึงตัวเขา และว่าขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เสียงของคนเชื้อสายมลายูกำลังแตก อะบูซายังชี้ด้วยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ศาลยังมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่่ให้ถอดชื่อพรรคปารตี้ ปรีบูมี เบอร์ซาตู มาเลเซียของมหาเธร์ด้วย แสดงให้เห็นว่ามีพลังบางอย่างที่กำลังดึงตัวเองถอยห่างจากอัมโนและนายนาจิบ 

อย่างไรก็ตามบทความในดิพโพลแมทระบุว่า ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านเองก็ใช่ว่าจะมีเอกภาพ ทั้งสามพรรคที่ร่วมอยู่ในพรรคผสมฝ่ายค้านต่างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่และเป็นคู่แข่งสำคัญของอัมโนคือพรรคปาส ขณะนี้ก็ไม่อยู่ในพรรคผสมฝ่ายค้าน แถมมองว่าตัวเองจะเป็นตัวตัดสินในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกด้วย


ที่มา: รอยเตอร์ ดิโพลแมท ฟรีมาเลเซียทูเดย์