นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าทำงานที่กระทรวงอย่างเป็นทางการวันแรก โดยได้มีการสักการะพระพุทธสยัมภู พระพุทธรูปประจำกระทรวงและศาลพระภูมิ จากนั้นได้ปลูก "ต้นรวงผึ้ง" บริเวณด้านหน้าอาคารกรมควบคุมมลพิษ ก่อนไปยังห้องทำงานชั้นที่ 20 โดยมีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมให้การต้อนรับและแสดงความยินดี
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงมีศักยภาพหรืองานจำนวนมาก แต่มีปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นเพียงควบคุมดูแล ไม่มีอำนาจจับกุมหรือดำเนินการ อย่างการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือการปล่อยน้ำเสีย ซึ่งกระทรวงเป็นเพียงเจ้าทุกข์ที่ต้องแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น ขณะที่การควบคุมการปล่อยหรือกักเก็บน้ำในเขื่อน อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ดูแล
ส่วนแนวทางการทำงานนั้น ในเรื่องป่าไม้ จะมุ่งรักษาผืนป่าเดิมที่มีอยู่ ป้องกันการบุกรุกทำลาย และจะไม่มุ่งขยายหรือเพิ่มพื้นที่ป่า, เรื่องทรัพยากรน้ำ มีแนวคิดเกี่ยวกับธนาคารน้ำใต้ดิน และเรื่องขยะ จะต้องลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้หรือย่อยสลายยาก
สำหรับปัญหาภัยแล้งที่หนักหน่วงขณะนี้ หลังจากแถลงนโยบายของรัฐบาล จะลงพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน และเตรียมมาตรการเร่งด่วน คือ การขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือมีตาน้ำ โดยจะสำรวจให้เสร็จสิ้นใน 1 สัปดาห์เพื่อดำเนินการ ส่วนการแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น ไม่กังวลเรื่องการซักฟอก เพราะเพิ่งมาทำหน้าที่และพร้อมรับฟังข้อเสนอของเพื่อนสมาชิก ส.ส.และ ส.ว.
นายวราวุธ ยังกล่าวถึงการที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เข้ามายื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลและเข้าพบรัฐมนตรีใหม่รวมถึงตัวเองด้วยในเวลา 15.00 น. วันนี้ (22 ก.ค.) ว่า จะรอพบพีมูฟและยินดีรับฟังการปัญหาต่างๆ เพราะเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่มีช่องทางในการร้องเรียนหรือแก้ไขปัญหาที่สะดวกมากนัก พร้อมกับย้ำว่า จะไม่รับฟังเฉยๆ แต่จะนำปัญหาไปแก้ไขด้วย
โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ นำโดยนายประยงค์ ดอกลำไย และ นายจำนงค์ หนูพันธ์ แกนนำพีมูฟ พร้อมตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม่-ที่ดินของรัฐ เข้าหารือและยื่นหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหา 10 ประเด็น ประกอบด้วย
1.) ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่ส่งผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อยพร้อมหามาตรการการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
2.) ผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพย์ฯและยกระดับโครงการจัดที่ดินชุมชนให้เป็นการรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างแท้จริง
3.) ทบทวนปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ-พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้สอดคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560
4.) ให้ทบมวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า เนื่องจากแนวทางและมาตรการตามมติ ครม.ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
5.) ผลักดันให้มีการคุ้มครองพื้นที่อาศัย พื้นที่ทํากินและคุ้มครองพื้นที่จิตวิญญาณชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล
6.) ผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชน การจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชนซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว
7.) กรณีชุมชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรในชุมชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อยู่อาศัยได้
8.) ให้มีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีป่าไม้ที่ดินที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่สำคัญคือ การเยียวยา, มาตรการจำหน่ายคดี และ
ให้มีคณะทำงานรวบรวมกลั่นกรองและเสนอแนวทาวแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดจากปัญหาป่าไม้ที่ดินทั้งหมด
9.) แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรฯที่ตกค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ซึ่งพีมูฟ รวบรวมได้ 73 กรณี
10.) นโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบร่วมกันระหว่าภาครัฐและชุมชนให้เป็นรูปธรรม
11.) ให้มีกลไกการประสานงานเพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯและ พีมูฟ
ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า ปัญหาใดที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับการออกกฎกฎหมายก็ผลักดันกฎหมายตามกระบวนการ แต่ส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระดับกระทรวงก็ควรผลักดันได้เลย และหากรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปดูสภาพปัญหาและสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นขวัญกำลังใจและเป็นเรื่องที่ดีมากในการจะนำสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :