ไม่พบผลการค้นหา
'สหภาพแรงงานรถไฟ' กระทุ้ง 'ผู้ว่าฯ รฟท.' ตรวจสอบปมเปลี่ยนป้ายชื่อ 'สถานีกลางบางซื่อ' แพง 33 ล้านบาท แถมไม่เปิดประมูลตามวิธีปกติ ด้าน 'รฟท.' ยันราคาเหมาะสมแล้ว พร้อมแจงเหตุผล ลั่นเปล่าเอื้อประโยชน์ใคร

ที่ทำการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือกับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งป้ายสถานีรถไฟกลางบางซื่อใหม่ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ปรากฏข้อมูลล่าสุดว่าใช้งบประมาณมากถึง 33 ล้านบาท 

โดยผู้ว่าการรถไฟมอบหมายให้ สุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการ สภาพรถไฟฟ้าการรถไฟแห่งประเทศไทยปฎิบัติการภารกิจรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เป็นตัวแทนรับหนังสือจากคณะฯ

สราวุธ กล่าวว่า ตามระเบียบราชการ การประกวดราคาควรจะดำเนินการตามขั้นตอน คือเปิดให้บริษัทต่างๆ เข้ามาเสนอประกวดยื่นราคา และหากไม่มีบริษัทไหนเสนอราคาเข้ามาประกวด จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง แต่การรถไฟฯ ข้ามขั้นตอนไปใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ให้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ผลิตป้ายอักษร โดยทำสัญญาว่าจ้างใช้งบประมาณในการเปลี่ยนป้ายกว่า 33 ล้านบาท 

ซึ่งทางสหภาพฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นและไม่มีความโปร่งใส เพราะหากคำนวณราคาป้ายทั้งหมดแล้วเฉลี่ยอักษรละ 568,000กว่าบาท จึงเรียกร้องให้การรถไฟฯ ตรวจสอบว่า วิธีดำเนินการดังกล่าวถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเปลี่ยนป้ายอักษร ควรรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานไว้ให้มากที่สุดสรรหาบริษัทที่ใช้งบประมาณคุ้มค่าไม่ใช่ไร้คู่แข่ง ยื่นราคางานไปเท่าไหร่ก็ได้ 

สราวุธ ยังเผนว่า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ เป็นบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทนี้ได้เข้ามาทำงาน ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่า การรถไฟฯ ยังมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินอยู่ การจะใช้งบประมาณจำนวนมากขนาดนี้มาใช้เพื่อเปลี่ยนป้ายอักษร อาจจะไม่คุ้มค่า จึงอยากให้เร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด

ด้าน สุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ ยืนยันว่า การใช้งบประมาณเปลี่ยนป้ายอักษรครั้งนี้ ถูกต้องและโปร่งใส แม้จะเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง แต่งบประมาณที่ใช้คุ้มค่า เพราะหากไปดูขนาดอักษรที่เปลี่ยนในระยะใกล้ จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวคนหลายเท่า รวมถึงราคานี้ รวมค่าติดตั้งค่าทำอักษรและค่าเปลี่ยนโครงสร้างบางส่วน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร

ทั้งนี้ การรถไฟฯ พร้อมชี้แจง โดยภายในวันนี้จะออกเอกสารชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมด และเชื่อว่าหากสังคมได้เห็นเอกสารและได้รับฟังเหตุผลจะเข้าใจในราคาที่เปลี่ยนอักษรในวงเงิน 33 ล้านบาท