บลูมเบิร์ก สื่อสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ว่า กลุ่มนักเรียนผู้ประท้วงเสี่ยงถูกจับกุม หลังจากมีการเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจของสถาบันหลักและการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยจากการชุมนุมประท้วงหลายแห่ง ขณะที่เหตุการณ์จับกุมแกนนำผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ส่งผลให้เกิดแฟลชม็อบหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในการแสดงความเห็นตามหลักประชาธิปไตยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สื่อสหรัฐฯ กล่าวว่า จำนวนกลุ่มผู้ชุมุนมหลายพันคนที่เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.นั้นเป็นแรงเหวี่ยงกลับที่เกิดขึ้นจากการจับกุมผู้นำชุมนุมหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อานนท์ นำภา ผู้เสนอข้อเรียกร้องถึงอำนาจของสถาบันหลัก
'ศ.เควิน เฮวิสัน' ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโนไลนา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ และเป็นการเคลื่อนไหวแรกที่มีการกล่าวถึงสถาบันหลักที่โยงถึงระบอบการปกครอง
นอกจากนี้ ศ.เฮวิสัน ยังวิเคราะห์ว่า รูปแบบของแฟลชม็อบเยาวชนในครั้งนี้เป็นม็อบไร้ผู้นำ เหมือนกับม็อบฮ่องกงและเหมือนม็อบที่อื่นๆทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจากการประท้วงในไทยก่อนหน้านี้ที่มีการปิดและยึดพื้นที่ถนนในกรุงเทพนานนับเดือน
"ไม่มีการประสานงานและการจัดตั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้มีแนวโน้มสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลไทย" เฮวิสันกล่าว
นอกจากการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเชื่อมโยงกับสถาบันหลักแล้ว การชุมนุมประท้วงของกลุ่มเยาวชนยังมีการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการขีดเส้นให้มีการแก้ไขภายในเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงการถอดถอนกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากกองทัพและแก้ไขกฎการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย
การชุมนุมโดยสมัครใจ
บลูมเบิร์กชี้ว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผิดแผกไปจากการประท้วงในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในระยะช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาที่การประท้วงส่วนใหญ่นั้นถูกสนับสนุนโดยนักการเมืองที่มีอิทธิพล
ขณะที่การชุมนุมประท้วงครั้งล่าสุดนี้มีกลุ่มคนที่หลากหลายเข้ารวมตั้งแต่นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงการเข้าร่วมชุมนุมของกลุ่มผุ้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการใช้พื้นที่ดิจิทัลในการจัดตั้งและเรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวผ่านแฮชเเท็ก
อย่างไรก็ตามสื่อสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนที่มีหลากหลายในครั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายกับ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมที่มาจากการรัฐประหารปี 2557 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนกยารัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยรัฐบาลทหาร โดยให้เหตุผลถึงความท้าทายในการจัดการควบคุมการประท้วงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลักโควิด-19
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดตั้งเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นของกลุ่มผู้ประท้วง และยังกล่าวว่ารัฐบาลจะมีการพิจารณาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราที่จำเป็น
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวว่า การประท้วงสามารถทำได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีการทำผิดกฎหมายและยืนยันประชาชนทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการแสดงความเห็นตามเท่าที่ยังอยู่ภายใต้กฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง