เป็นการจุดพลุโดยความคิดของซีกรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ
'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย โดยทำหน้าที่แสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกให้เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ
ขณะที่ 'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เห็นควรให้ตั้งกรรมาธิการปรองดองเหมือนปี 2552 ในสมัย ชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภาได้แต่งตั้ง และะเห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสร้างความรักความปรองดองให้เกิดขึ้น ใกล้เคียงกับรูปแบบที่ จุรินทร์ เป็นผู้เสนอ แต่ให้เพิ่มเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้ามา โดยขอตั้งคณะกรรมกาชุดนี้ว่าคณะกรรมการปรองดอง
ข้อเสนอของซีกพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ประมุขสองฝ่ายต่างขานรับ
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาโดดรับลูกเห็นด้วยให้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว
"ผมเห็นด้วยตั้งคณะทำงานศึกษา หาทางออก เอาทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล รัฐสภา ผู้เห็นต่าง หรือผู้ที่อะไรก็แล้วแต่ ก็คุยให้รู้เรื่องแล้วกัน ไม่นั้นก็ว่ากันไปกันมาต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ก็ไปหามาให้ได้แล้วกัน จะเจรจากับใคร ทุกคนเป็นหัวหน้าทั้งหมด ต้องหาสถานที่กว้างๆ หน่อย"
เช่นเดียวกับ 'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภา ก็เห็นว่าโมเดลคณะกรรมการปรองดองควรให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษาและออกแบบโครงสร้าง
โมเดลที่ถูกปัดฝุ่นให้ตั้งกรรมการปรองดองนั้น กลับไม่ถูกตอบรับจากท่าทีพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย
เมื่อ 'ประเสริฐ จันทรรวงทอง' ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศเพื่อซื้อเวลาตามข้อเสนอของรัฐบาล
"พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก เพราะท่านเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวล ตราบใดที่ท่านไม่ลาออก ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และมีโอกาสเกิดสถานการณ์รุนแรง บานปลาย ยากต่อการควบคุม"
นี่คือท่าทีจากแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ไม่รับลูกกับข้อเสนอเตะถ่วง เลี้ยงไข้ม็อบนอกรัฐสภา
ย้อนไปเมื่อปี 2552 รัฐสภา เคยเป็นผู้นำเกี่ยวกับการหาทางออกให้กับประเทศไทยจากความขัดแย้งวิกฤตทางการเมืองนอกรัฐสภา จากการชุมนุมทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.
ครั้งนั้นมีการประชุมร่วมกันของประธานรัฐสภา ประธานวิปสามฝ่ายและหัวหน้าพรรคประชาราช เพื่อแสวงหาแนวทางในการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองโดยเร็ว
โดยที่ประชุมเห็นควรให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ข้อ 8 (5) 'ชัย ชิดชอบ' ประธานรัฐสภาขณะนั้นได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ มี 'ดิเรก ถึงฝั่ง' ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานกรรมการ
และหนึ่งในกรรมการชุดนี้ มี 'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาในขณะนั้น ร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2552
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้พิจารณาโดยวิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในช่วงขอบเขตเวลา นับแต่ประเทสไทยใช้รัฐธรรมนูญ จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 เห็น่วาปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ปฏิบัติ ดังนั้น คณะกรรมการจึงเห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบางประเด็นและบางมาตราเป็นการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อให้สอดคล้องในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมืองในระยะต่อไป 6 ประเด็น
1.ประเด็นการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
2.ประเด็นที่มาของ ส.ส.
3.ประเด็นที่มาของ สงว.
4.ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
5.ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.
6.ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.
ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยังเห็นสอดคล้องต้องกันว่า การดำเนินงานการปฏิรูปการเมือง ควรทำทั้งในระยะสั้น (1ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5ปี)
1.ระยะสั้นและระยะกลางควรตั้งคณะทำงานของรัฐสภา เพื่อศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม
2.ระยะกลางและระยะยาว ให้มีองค์กรทางวิชาการที่รับผิดชอบและประสานงานด้านการสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตย
3.ระยะยาว ให้มีการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นเพื่อพิจาารณาปฏิรูปการเมืองของรัฐสภา หรือเป็นองค์กรเอกเทศที่เชื่่อมโยงกับรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมประสานและแปลงแผนงานปฏิรูปการเมืองไปสู่การปฏิบัติ โดยองค์กรพิเศษ นี้ คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ สำเร็จเพียงแนวทางที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน มี.ค. 2554 โดยเสนอให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง จากพวงใหญ่เรียงเบอร์ นำไปสู่เขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น ถูกพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้เร่งแก้ไข พร้อมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์ในการทำสนธิสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190
ทันทีที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น 'อภิสิทธิ์' ก็ประกาศยุบสภาในทันทีเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2554 ขณะที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 พ.ค. 2554
ส่วนข้อเสนอให้มี ส.ส.ร. ยังถูกลากยาวนับจากปี 2552 มาจนถึงปี2563 ก็ยังไม่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
เพราะเมื่อปี 2555 รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จัดตั้ง ส.ส.ร. ก็ถูกชงเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และถูกวินิจฉัยให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.
แนวทางการตั้งคณะกรรมการปรองดองในปี 2563 ในขณะนั้นทำให้ถูกมองเป็นได้สองทาง
ทั้งอาจดับวิกฤตม็อบนอกรัฐสภา หรืออาจจะยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับม็อบนอกรัฐสภาก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง