แม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีของลัตเวียโดยทั่วไปแล้ว จะเป็นเพียงตำแหน่งในทางพิธีการ แต่ประธานาธิบดีลัตเวียสามารถยับยั้งกฎหมาย และเรียกให้มีการลงประชามติได้ โดยในหลายประเทศ ประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลมักเป็นคนละบุคคลกัน ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีหัวหน้ารัฐบาลที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผยมาแล้ว แต่ไม่เคยมีประมุขแห่งรัฐที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผยมาก่อน โดยก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปเคยมีหัวหน้ารัฐบาลคนแรกที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผย คือ เอลิโอ ดิ รูโป อดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียม
รินเควิกส์ ในวัย 49 ปี เปิดเผยว่าเขาเป็นเกย์ครั้งแรกเมื่อปี 2557 และเขาเป็นผู้สนับสนุนสิทธิ LGBTQ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้ การสมรสเพศเดียวกันในลัตเวียยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญของประเทศจะรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลเพศเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รินเควิกส์ได้รับเลือกจากรัฐสภาของลัตเวียให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศจากการลงคะแนนเสียงรอบที่ 3 โดยในการแถลงจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ รินเควิกส์ให้คำมั่นว่าลัตเวียจะเดินหน้าสนับสนุนความพยายาม ในทำสงครามอย่างต่อเนื่องของยูเครน เพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
ทั้งนี้ รินเควิกส์ย้ำว่านโยบายต่างประเทศของลัตเวีย "ไม่มีเวลาสำหรับความผิดพลาด" พร้อมระบุเสริมว่าเขาจะดำเนินการ "อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และชาญฉลาด"
นอกจากนี้ ในคำปราศรัยขณะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีลัตเวีย รินเควิกส์ยังกล่าวให้การสนับสนุนแก่เยาวชนชาวลัตเวีย เพื่อที่จะ "ทะลุเพดานแก้ว" ในขณะที่เขากล่าวถึงความไม่เท่าเทียมว่าเป็น "ปัญหาสำคัญ" พร้อมย้ำว่า “ความแตกแยกทางสังคมในสังคมของเรานั้นมีอยู่อย่างใหญ่หลวง”
"ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ผมจะยืนหยัดเพื่อสร้างลัตเวียที่ทันสมัยและแข็งแกร่ง เพื่อลัตเวียที่ถูกกฎหมายและยุติธรรม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อสังคมที่ครอบคลุมและเคารพ" รินเควิกส์กล่าว “และเป็นไปได้ที่พวกเราทุกคนจะบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยการทำงานร่วมกัน"
รินเควิกส์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีลัตเวียต่อจาก เอจิลส์ เลวิทส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลัตเวียมาเป็นเวลา 4 ปี ทั้งนี้ รินเควิกส์จะเป็นตัวแทนของลัตเวีย ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในสัปดาห์หน้าที่เมืองวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย
ลัตเวียเป็นหนึ่งใน 3 รัฐบอลติก รวมถึงลิทัวเนียและเอสโตเนีย ซึ่งเข้าร่วมสหภาพยุโรปเมื่อปี 2547 หลังจากแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
ที่มา: