ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศรายงาน 'ประยุทธ์' ได้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย เพราะมีคะแนนโหวตในสภาเกินกึ่งหนึ่ง สัมภาษณ์นักวิเคราะห์ชี้ มีรัฐสภาแต่ไม่ใช่รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ด้านโฆษกอนาคตใหม่ยืนยัน ส.ส. ลาป่วย ป่วยจริง ไม่ใช่งูเห่า

สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี รายงานข่าวว่า ที่ประชุมสภาของไทยลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย. โดยสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งลงคะแนนให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย

ขณะที่แมทธิว ทอสต์วิน บรรณาธิการข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ประจำประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว โพสต์ทวิตเตอร์เช่นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อรัฐประหาร จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว VOA ของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้คะแนนข้างมากในสภาจากการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา 250 รายที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง ถูกคัดเลือกและรับรองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์เอง จึงถือว่าเขามีเสียงรองรังในสภาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ของไทย ยังมีมติเสียงข้างมากว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ เมื่อรวมกับจำนวน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีอดีตรัฐมนตรี 4 รายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแกนนำพรรค ก็ทำให้ผูู้นำรัฐบาลทหารมีคะแนนรวมเกินกึ่งหนึ่งได้ไม่ยาก

วอชิงตันโพสต์ พาดหัวข่าวทันทีที่รู้ผลการลงมติเลือกนายกฯ ว่า "รัฐสภาไทยต่ออายุให้เผด็จการประยุทธ์ ด้วยการลงคะแนนให้เป็นนายก หลังจากการเลือกตั้งที่คลุมเครือ"

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2557 กำลังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลที่เปราะบางนำโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกองทัพ และก็ไม่ได้ชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งทีผ่่านมาเพราะได้คะแนนไป 116 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส. 500 คน แต่ก็มี ส.ว. แต่งตั้งอีก 250 คน ซึ่งจำนวนมากเป็นนายทหารลงคะแนนหนุนพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ได้ระบุคำสัมภาษณ์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์นักวิชาการอิสระซึ่งมองว่า ไทยมีรัฐสภาแต่ไม่ใช่รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวสังเกตว่า ในการขานคะแนนครั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่พบ "งูเห่า" ในฝั่ง 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีขัดกับแนวทางของพรรค อย่างไรก็ตาม มีกรณี ส.ส. ลาป่วย และไม่มาลงมติ รวมถึงกรณีงดออกเสียง ได้แก่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา

โดยน.ส. พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่เผยกับวอยซ์ออนไลน์ กรณีนางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส. เขต จ.นครปฐม ลาป่วย ไม่ได้มาลงมติว่า นางจุมพิตาลาป่วยจริงเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ

นอกจากนี้มีกรณีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ภูมิใจไทย งดออกเสียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: