ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิริกัญญา‘ มั่นใจ 33 ขุนพล ตั้งธงอภิปรายงบฯ “วิกฤตแบบใด ทำไมถึงจัดงบแบบนี้” อัดรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ไม่เห็นวิกฤตปัญหารอบด้าน คาดไม่คุ้นชินบริหารราชการแผ่นดิน

วันที่ 30 ธ.ค. ที่พรรคก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความพร้อมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า พรรคก้าวไกลได้ศึกษาวิเคราะห์งบประมาณ โดยตั้งธีมอภิปรายไว้ว่า “วิกฤตแบบใด ทำไมถึงจัดงบแบบนี้” 

โดยมองว่า ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าสู่อำนาจ ได้อ้างถึง 3 วิกฤต ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจปากท้อง วิกฤตรัฐธรรมนูญ และวิกฤตความขัดแย้ง รวมถึงวิกฤตอื่นๆ ที่สังคมเห็นตรงกัน อาทิ วิกฤตการศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนวิกฤตสิ่งแวดล้อมฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเมื่อศึกษา และวิเคราะห์งบประมาณกลับไม่เห็นการจัดงบที่ตอบสนองกับวิกฤตเหล่านี้ และยังมีงบฯ ที่ไม่เหมาะไม่ควรอยู่ ทั้งยังมีงบฯ บางอย่างที่หายไป 

ศิริกัญญา กล่าวถึงความต้องการในการจัดสรรงบฯ ของรัฐบาลว่า ต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เห็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย โดยเฉพาะโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทที่ไม่อยู่ในงบประมาณปี 2567 แต่ต้องไปรอลุ้น พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ขณะที่ด้านวิกฤตรัฐธรรมนูญ กลับมีการตั้งงบฯ สำหรับการทำประชามติไว้เพียงแค่ครึ่งประชามติ ซึ่งไม่เพียงพอ 

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน จำเป็นต้องรับมรดกหนี้จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งหนี้สาธารณะที่ต้องใช้หนี้เงินคงคลัง เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งงบฯ ไว้ไม่เพียงพอ เช่น งบฯ บุคลากรเงินเดือนข้าราชการในปี 2565 และ2566 ทำให้ตอนนี้ต้องใช้หนี้เงินคงคลังถึง 120,000 ล้านบาท 

รวมถึงรัฐบาล เศรษฐา ต้องใช้หนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่อนดาวน์ไว้ราว 400,000 ล้านบาท ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความเห็นใจตรงส่วนนี้ แต่งบประมาณที่รัฐบาลปัจจุบันสามารถจัดสรรได้เองกลับไม่เห็นความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เลย 

สำหรับเรื่องที่น่าผิดหวังสำหรับการจัดสรรงบประมาณ ศิริกัญญา เผยว่า ในงบประมาณ 2567 มีโครงการใหม่แค่ 200 โครงการจากทั้งหมด 2,000 โครงการ ซึ่งมีมูลค่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งงบฯ ฉบับนี้เป็นการใช้หนี้มรดกของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จริง แต่ก็ไม่สะท้อนถึงความพยายามในการจัดสรรงบฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของตนเอง และงบฯ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลเดิม จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ระยะเวลาเป็นหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถใส่โครงการใหม่ได้ 

ทั้งนี้งบฯ ฉบับนี้มีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา ดังนั้นหากมีการเตรียมการล่วงหน้า หรือเขียนโครงการเอาไว้แล้ว ถึงเวลาจัดสรรงบฯ ก็สามารถใส่ไปได้เลย แม้ว่า งบฯ ปี 2567 จะมีการปรับปรุงไปแล้ว 1 ครั้ง แต่เป็นการลดรายจ่ายที่ต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 20,000 ล้านบาท และไปเพิ่มในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 15,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มกองทุน SMEs อีก 5,000 ล้านบาท ดังนั้นจะบอกว่า เวลาน้อยทำให้ปรับปรุงไม่ทันก็ฟังไม่ค่อยขึ้น 

ศิริกัญญา มองว่า เศรษฐา อาจจะยังไม่คุ้นชินกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะคุ้นชินกับการบริหารบริษัทเอกชน จึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนข้าราชการให้ทำตามที่ได้มอบหมายไว้ได้ นอกจากนี้การเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลก็เป็นผลให้ต้องประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาล และหลายฝ่าย โดยโครงการเรือธง เช่น ขึ้นค่าแรง หรือการแจกแท็บเล็ตก็ไปอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่

สำหรับการจัดสรรงบฯ รายกระทรวง ศิริกัญญา แสดงความผิดหวังต่องบฯ ของกระทรวงกลาโหม เพราะ ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่า จะตัดลบงบฯ สำหรับกองทัพลง 10% แต่ปี 2567 กลับมีงบเพิ่มขึ้น 2% ขณะที่กระทรวงมหาดไทย สัดส่วนงบประมาณเยอะเนื่องจากต้องจัดงบเพื่อกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงเงินอุดหนุนต่างๆ 

“เราคาดหวังมาก เพราะเป็นรอบ 9 ปี ที่ได้เปลี่ยนผู้นำรัฐบาล คาดหวังว่า รัฐบาลจะได้จัดสรรงบแบบใหม่เพื่อให้เราขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนและปีนี้ขึ้นปีที่ 10 เราก็ยังเจองบฯ แบบเดิมอยู่” ศิริกัญญา กล่าว 

ศิริกัญา ยังกล่าวถึงงบฯ สำหรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทอีกว่า เป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำ แต่ต้นปีหน้ากฤษฎีกาน่าจะให้ความกระจ่างว่า จะทำได้หรือไม่ พร้อมมองว่า การเอาไข่ไปไว้ในตะกร้าเดียว ฝากความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ที่โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเพียงโครงการเดียว และเอาออกไปอยู่นอกงบฯ ประจำปี หากทำไม่ได้ งบฯ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเพียงงบกลางเท่านั้น ซึ่งในงบกลางมีการจัดสรรงบฯ สำหรับโครงการไว้ไม่เพียงพอมเช่น งบอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องวางแผนล่วงหน้าให้ดีกว่านี้ 

สำหรับกรอบเวลาการอภิปรายงบฯ จะตกลงเวลากับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง ตอนนี้รอให้พรรคประชาธิปัตย์ทำการบ้านเสร็จก่อนจะจัดคิวในการอภิปราย เพราะเราอยากให้คนที่พูดเรื่องเดียวกัน อภิปรายใกล้ๆ กัน เพื่อที่รัฐมนตรีจะได้ฟัง และตอบคำถามทีเดียว 

ยืนยันว่า ขุนพลของพรรคก้าวไกล 33 คน ไม่มีใครอภิปรายเรื่องซ้ำกัน แต่ละคนจะมีการอภิปรายเชิงประเด็น ไม่ใช่อภิปรายเป็นรายกระทรวง เพราะฉะนั้นในหนึ่งประเด็น สส.ที่อภิปรายต้องมีรัฐมนตรีหลายคนเข้ามานั่งฟัง ไม่ใช่นั่งฟังเฉพาะกระทรวงตนเอง

ศิริกัญญา เผยอีกว่า การอภิปรายงบฯ จะเปิดด้วยภาพรวมเศรษฐกิจ ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะประชาชนเฝ้ารอว่า รัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่าเก่งในด้านบริหารเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจประเทศนี้โตได้อย่างไร จากนั้นจะอภิปรายเรื่องวิกฤตความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิกฤตกองทัพ วิกฤตการศึกษา วิกฤตทรัพยากรมนุษย์ และงบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งต้องดูรายละเอียดประกอบกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อจัดเวลาในการอภิปรายอีกครั้งหนึ่ง


ตั้งข้อสงสัย 'ภูมิธรรม' นั่งประธาน กมธ.งบฯ

ศิริกัญญา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติส่ง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 

ศิริกัญญา กล่าวว่า การที่ ภูมิธรรม ลงมานั่งเป็นประธาน กมธ.งบฯ เองอาจจะมีการบัญชาการ หรือสั่งการอะไรอย่างเข้มข้นแน่นอน ทั้งที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ไม่ใช่รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ หากจะเป็น ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ คงจะไม่น่าแปลก 

ส่วนจะมองว่า การที่ ภูมิธรรม นั่งเป็นประธาน กมธ.งบฯ อาจเป็นเพราะนายกฯ ไม่ไว้ใจคนอื่นหรือไม่นั้น ศิริกัญญา มองว่า อาจไม่ถึงขนาดนั้น แต่อาจเป็นวาระพิเศษที่ต้องส่ง ภูมิธรรม มาควบคุมด้วยตัวเอง พร้อมย้ำว่า อาจเป็นนัยทางการเมือง ไม่ใช่นัยตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า โดยธรรมชาติแล้ว รัฐมนตรีจะไม่ได้มานั่งเป็นประธาน กมธ. ด้วยตัวเองอยู่แล้ว อย่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง นั่งเป็นประธาน ก็เจอหน้าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเจอ วราเทพ รัตนากร รองประธาน กมธ.งบฯ (ในขณะนั้น) เสียมากกว่า 

ส่วนจะมีการพูดเรื่องนี้ในระหว่างการอภิปรายงบฯ หรือไม่นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ใครจะเป็นประธาน กมธ.งบฯ ก็ต้องยอมรับ และไปโหวตอีกทีในชั้น กมธ. แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหามากขนาดนั้น อาจจะต้อง “ทดลองใช้” ก่อน หากมีปัญหาอย่างไรจะเอามาเล่าให้ฟัง 


ข้อมูลแดชบอร์ด งบฯ67 ไม่ละเอียดถึงระดับโครงการ

ศิริกัญญา กล่าวถึงสาเหตุที่พรรคก้าวไกลต้องแปลงเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จากไฟล์ PDF เป็นไฟล์ Excel ว่า ทำให้เราวิเคราะห์งบประมาณได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น และลึกขึ้น รับรอง ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ทำให้ผิดหวัง วิเคราะห์งบประมาณอย่างแหลมคม ตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพ 

ส่วนที่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคก้าวไกลไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นไฟล์ Excel เนื่องจากสำนักงบประมาณของรัฐสภา (POB) มีการทำแดชบอร์ดเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลอยู่แล้ว 

ศิริกัญญา กล่าวว่า เนื่องจากแดชบอร์ดของ POB มีเพียงข้อมูลระดับหน่วยงานเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดระดับโครงการ ซึ่งมีหลายเรื่องที่สอดแทรกมามากขึ้น โดยจะเห็นได้จากในงบฯ ปีล่าสุดมีการระบุโครงการประกันรายได้ ทั้งที่โครงการดังกล่าวมีมาตั้งแต่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551-2552 ที่ยังใช้หนี้ไม่หมด แต่กลับต้องมาตั้งงบฯ ชดเชย ดังนั้นถ้าสนใจจะวิเคราะห์งบฯ คงต้องดูไปให้ถึงรายละเอียด เพราะปีศาจจะอยู่ในรายละเอียด 

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษางบฯ ปี 2567 มีเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น ซ้ำยังคาบเกี่ยวช่วงปีใหม่ที่ตามปกติ สส. จะต้องไปพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงทำให้ต้องต้องยกเลิกนัดหมายไป นี่คือความฉุกละหุกที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีเวลาน้อย และต้องทำงานให้หนักขึ้น แต่โชคดีที่มีการแปลงไฟล์งบฯ จาก PDF ให้เป็น Excel 

ยันไม่ใช้สภาฯ เป็นเวทีซักฟอก

ศิริกัญญา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า ยืนยันเวทีงบประมาณก็คือเวทีงบประมาณไม่ใช่เวทีซักฟอก 

โดยมองว่า เวทีงบประมาณถือเป็นเวทีแถลงนโยบาย 1 ปีของรัฐบาล ซึ่งตอนเริ่มต้น รัฐบาลได้มาแถลงนโยบายภาพรวม 4 ปี แต่การแถลงงบประมาณถือเป็นการแถลงนโยบายในวาระ 1 ปี ดังนั้นเราจะเจาะ จะคุ้ย และวิพากษ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย และการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น 

ศิริกัญญา ยอมรับว่า จะมีการซักฟอกเฉพาะโครงการที่มีโอกาสเกิดการทุจริตคอรัปชั่นเท่านั้น แต่ไม่ใช่หลักใหญ่ใจความในการอภิปราย พร้อมฝากถึงรัฐบาลให้ใส่ใจรายละเอียดในงบประมาณอย่าเพียงแค่อนุมัติ เพราะหลายเรื่องมีความสำคัญจำเป็นกับประชาชน หากตัดสินใจพลาดไปผลกระทบจะเกิดขึ้นตามมา 

ทั้งนี้ ศิริกัญญา มองว่า ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) คงมีงบประมาณบางเรื่องที่ต้องจัดสรรใหม่ให้โครงการที่มีความจำเป็น ยกตัวอย่างโครงการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ซึ่งถูกตัดงบเหลือ 0 บาททเราก็จะหยิบยกโครงการที่ถูกปัดตกโดยสำนักงบประมาณขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วย