ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอรัฐบาลปรับเพิ่มวงเงินกู้ เพื่อใช้ด้านสาธารณสุขจาก 4.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท สนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ย้ำอย่าปล่อยให้พวกเขาต่อสู้กันอย่างเดียวดาย

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล อภิปรายพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ว่า พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ มีส่วนที่กันไว้ให้ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับงบลงทุนของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 ที่มีจำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท เท่ากับงบลงทุน 3.6 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตอีกว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินนี้ ที่เป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ นอกจากไม่มีสัดส่วนของภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ยังไม่ได้มีสัดส่วนของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเลย และไม่ได้กำหนดรายละเอียดและสัดส่วนของการใช้เงิน ว่าจะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เพียงแต่กำหนดไว้กว้างๆ เท่านั้น ซึ่งเอกภพกล่าวว่าเราไม่ควร "ตีเช็คเปล่า" กับงบประมาณที่มีความสำคัญขนาดนี้

จากการที่เราต้องอยู่กับมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนตั้งแต่เดือน มี.ค. เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ คำถามที่ทุกคนอยากรู้คือเราต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนานเท่าไร ซึ่งคำตอบคือการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อมีคนที่มีภูมิคุ้มกันในจำนวนมากพอที่จะหยุดการแพร่เชื้อต่อได้ ซึ่งในกรณีของโควิด-19 นี้ ประมาณการว่าต้องมีคนที่มีภูมิต้านทาน 60-80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร โดยจะทำได้ 2 วิธี คือการทำภูมิต้านทานหมู่ หรือ วัคซีน ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าการจะมีวัคซีนที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยคือนับจากนี้อีก 1 ปี เป็นอย่างต่ำ

"การล็อกดาวน์ ทำเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรมาพร้อมกับการเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุข ให้พร้อมรับมือกับการเพิ่มขึ้นของคนไข้เมื่อเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม แล้วก็มีการวางแผนเพื่อปิดอีกครั้งหากมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นการเปิด-ปิดอย่างมีกลยุทธ์ หรือ Cyclic Lockdown”

ประชุมสภา28_๒๐๐๕๒๘_0003.jpg

อีกด้านคือ การพัฒนาวีคซีน มีข้อมูลการประมาณราคาวัคซีนว่าจะมีราคา 300-1,000 บาทต่อหน่วย แปลว่ารัฐบาลควรต้องเตรียมงบประมาณวัคซีนไว้ 1.2-6.7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันไทยมีหน่วยงานรัฐที่สามารถผลิตวัคซีนได้ 2 หน่วยงาน ซึ่งไม่มีการผลิตวัคซีนใหม่ๆ เลย และไม่มีศักยภาพที่จะผลิตในปริมาณครั้งละมากๆ ดังนั้นควรจะมีการปรับปรุงเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตวัคซีนในประเทศได้แล้ว หากไม่อยากจะรอคิวนานจากการต้องพึ่งการผลิตจากต่างประเทศ เพราะประชาชนควรจะได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะยากดีมีจน

"ในฐานะที่ผมเป็นหมอคนหนึ่ง อยากย้ำว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องใช้หน้ากากอนามัยเพียง 1 ชิ้นต่อหนึ่งวันเต็มๆ อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องหาใครมาบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องใช้เสื้อกันฝนแทนชุด PPE รัฐบาลไม่ควรฉลองชัยชนะบนหยาดเหงื่อของบุคลากรทางการแพทย์และน้ำตาของประชาชน อย่าปล่อยให้พวกเขาต่อสู้กันอย่างเดียวดายอีกเลย" นพ.เอกภพ กล่าว

ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงขอเสนอให้มีการปรับวงเงินกู้เพื่อใช้สำหรับด้านสาธารณสุขจากเดิม 4.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท โดยใช้ 6 หมื่นล้านบาทสำหรับการซื้อวัคซีน และอีก 4 หมื่นล้านบาทสำหรับการพัฒนาศักยภาพระบบสาธารณสุข การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และสำหรับบุคลากร

"เมื่อจัดงบประมาณแบบนี้ จะเป็นการต่อสู้ที่ทุกคนมาร่วมกัน และเมื่อประกาศชัยชนะ จะเป็นชัยชนะของทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ชัยชนะที่อยู่บนซากปรักหักพักของคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่ชัยชนะบนความลำบาก ความอดอยากของประชาชน ผมอยากให้เมื่อถึงวันที่ประกาศว่าโรคระบาดนี้หยุดลงแล้ว เราจะมีรอยยิ้มและความสุขไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องชนะ”

อ่านเพิ่มเติม