นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญวันที่ 22 พ.ค.นี้ และจะประชุมนัดแรกเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคจิดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 27 - 28 พ.ค.นี้ ว่า สภาผู้แทนราษฎรเตรียมการเรื่องห้องประชุม ส.ส. หรือห้องประชุมสุริยัน ไว้ค่อนข้างดีและมีความพร้อมแล้ว ซึ่งรวมแล้วสามารถบรรจุคนได้มากกว่า 1,200 ที่นั่ง เพราะฉะนั้นการเว้นระยะห่างทางกายภาพหรือ Physical Distancing สามารถดำเนินการได้ โดยเว้นระยะห่าง ได้ถึง 1.0- 1.5 เมตร และมาตรการอื่นๆ ก็เข้มอยู่แล้ว ทั้งการตรวจคัดกรองโรค ตรวจวัดไข้ เช็คประวัติของสมาชิกที่มีโอกาสไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง ก็มีมาตรการไว้เรียบร้อยอยู่แล้ว จึงมีโอกาสน้อยที่สมาชิกจะเสี่ยงติดเชื้อ ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคก็เป็นไปในทิศทางที่ดี สามารถควบคุมโรคได้ ดังนั้นการประชุมวันที่ 27 - 28 พ.ค.นี้ จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร
ส่วนสมาชิกทุกคนจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ได้พูดคุยให้ความเห็นกับที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเกณฑ์ไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าตรวจโรคทั้ง 500 คน มั่นใจว่าสมาชิกจะสามารถป้องกันตัวเองให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ทั้งการสวมหน้ากากใส่ ใส่ Face shield และความเป็นจริงสมาชิกคงไม่นั่งประชุมพร้อมกันทีเดียวทั้ง 500 คน โดยขึ้นอยู่กับว่าชั่วโมงนั้นใครสนใจประเด็นไหน เพื่ออะไรและยังมีพื้นที่พักผ่อนอยู่ข้างนอกห้องประชุมที่อากาศถ่ายเทสะดวก และวิปก็สามารถจัดการจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมแต่ละฝ่ายได้ ว่าใครควรจะอยู่ข้างในหรือพักข้างนอกห้องประชุม มั่นใจว่าสภาผู้แทนราษฎรมีความพร้อม ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาด
เตรียมพิจารณาร่างพระราชกำหนด 3 ฉบับ กังขาอุ้มนายทุน
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมพิจารณาร่างพระราชกำหนด 3 ฉบับว่า พรรคเพื่อไทยพูดคุยกันตั้งแต่ก่อนที่พระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการประชุมวันที่ 27 พ.ค.นี้ วาระแรกจะเป็นการพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ ให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 โดยแยกการประชุม ไม่ได้ประชุมร่วมกันระหว่างสองสภา โดยฝ่ายค้านจะนำความเห็นของคณะกรรมการประสานงานนอกสภา นำความเห็นภาคประชาชนมาพูดคุยกัน โดย 1 - 2 สัปดาห์นับจากนี้ ฝ่ายค้านจะมีการมอบหมายภารกิจเตรียมตัวบุคคลและประเด็นที่จะอภิปราย
ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ตั้งข้อสังเกตว่า การออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินสามารถทำได้ โดยพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการแพทย์และสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เยียวยา 555,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นห่วงเรื่องกลไกวิธีการที่ล่าช้าและเป็นปัญหากับประชาชน ซึ่งสภาจะเข้าไปตรวจสอบว่าการใช้เงินเป็นไปอย่างคุ้มค่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และ 400,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนเศรษฐกิจฐานรากโดยให้หน่วยงานต่างๆ เสนอแผน ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ซึ่งเท่าที่ติดตามดู หลายหน่วยงานทำแผนเสร็จแล้ว ดูเหมือนเป็นการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนในโครงการที่เคยทำมาอยู่แล้ว สามารถใช้งบประมาณปกติขับเคลื่อนได้ หรือควรเอางบประมาณไปเตรียมความพร้อม เกี่ยวกับการวางรากฐานเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตรูปแบบใหม่หรือ New Normal น่าจะมีประโยชน์มากกว่า
ส่วนพ.ร.ก.ปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ 500,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งสภามีหน้าที่เสนอให้ขยายขอบเขต เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนิติบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์ และพระราชกำหนดอีก 400,000 ล้านบาท ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอุ้มเจ้าสัวหรืออุ้มนายทุนหรือไม่ ซึ่งต้องดูรายละเอียด โดยพบว่าจะใช้เพียงร้อยละ 50 ที่มีการไถ่ถอนจากภาคเอกชนในปีแรก จะเป็นเหตุให้ฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หากล่าช้าเกินไปจะเกิดความเสียหายขึ้น โดยวันพรุ่งนี้จะไปยื่นรายชื่อฝ่ายค้านครบทั้ง 210 คน ต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังขาดเสียงสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา
อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านเคยรวบรวมรายชื่อ เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญไว้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.แล้ว มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถึง 24 คน แสดงความจำนงมาร่วมลงชื่อด้วย แต่เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงได้พักเรื่องนี้ไว้ก่อน แต่พอรัฐบาลแก้ปัญหาสะเปะสะปะ ส่งผลกระทบถึงประชาชน และยังออกกฎหมายกู้เงินมหาศาล จึงมีความจำเป็นต้องยื่น เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งเคยยื่นผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้ แต่ส่งสัญญาณกลับมาทางวิปรัฐบาลว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปิด ขณะที่ฝ่ายค้านยังเห็นว่ามีความจำเป็น และพยายามรวบรวมรายชื่อครบ 210 คน ขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ แม้จะเปิดประชุมได้เร็วกว่าเพียง 1 สัปดาห์ ก็ถือว่ามีความหมายมีประโยชน์
อ่านเพิ่มเติม