ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนเรียกร้องไปยังรัสเซีย ตลอดจนรัฐอื่นๆ ในยุโรปที่เป็นหัวใจสำคัญหลักของปัญหาด้านความมั่นคงได้เข้าร่วมกันหารือ บนประเด็นความตึงเครียดระหว่างชายแดนของยูเครนกับรัสเซีย เพื่อไม่ให้เกิดการยกระดับความตึงเครียดมากขึ้นไปกว่าเดิม
คูเลบาระบุว่า ทางการรัสเซียปฏิเสธที่จะให้คำอธิบายเรื่องการที่มีกองทัพเข้ามาประจำการติดกันกับชายแดนยูเครน อย่างไรก็ดี วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียจะปฏิเสธมาโดยตลอดว่ารัสเซียจะไม่ทำการบุกยูเครน แต่ขอเรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกรับรองว่าจะหยุดขยายอิทธิพลของตนเข้ามายังยุโรปตะวันออก
คูเลบาระบุเสริมว่า “ขั้นตอนต่อไป” ที่ทางยูเครนต้องการ และเรียกร้องไปยังรัสเซีย คือการพูดคุยหารือกันระหว่างทั้งสองชาติ ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงข้างหน้านี้ เพื่อให้มีการเปิดเผยแผนการของรัสเซีย “อย่างโปร่งใส” ทั้งนี้ สหรัฐฯ คาดการณ์ว่า รัสเซียอาจทำการบุกโจมตียูเครนด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศ “ได้ในทุกเวลา”
คูเลบาเรียกร้องไปยังทางรัสเซียอีกว่า ทางยูเครนต้องการคำอธิบายเจตนาของรัสเซียเอง ภายใต้เอกสารเวียนนา ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ซึ่งมีรัสเซียเองที่เป็นสมาชิกอยู่ด้วยเช่นกัน
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองชาติรวมไปถึงพันธมิตรตะวันตก ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจจะรุกรานยูเครนได้ในทุกเวลา ทั้งนี้ หลายชาติแนะนำให้พลเมืองของตนเองเดินทางออกจากยูเครนโดยทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากรัสเซียทำการบุกรุกยูเครน
อย่างไรก็ดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนระบุว่าจากหลักฐานแล้ว ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่ารัสเซียจะบุกประเทศของตนในระยะเวลาไม่กี่วันที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ เซเลนสกีได้ต่อสายตรงพูดคุยกับทาง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยที่ทั้งสองผู้นำตกลงกันในหลักการว่า ทั้งสองชาติจะยังคงร่วมกัน “ดำเนินการทางการทูตและการป้องปรามต่อไป”
ทั้งนี้ ยูเครนได้ส่งคำเชิญการเดินทางเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการไปยังไบเดน และเซเลนสกีได้ระบุขอบคุณถึง “การให้การสนับสนุนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” จากทางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยของไบเดนผ่านทางโทรศัพท์กับปูตินยังคงไม่ก่อให้เกิดความคืบหน้าใดๆ ถึงการลดระดับความตึงเครียดลง รวมถึงการเดินทางเยือนรัสเซียของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ไม่ได้ส่งผลให้มีบรรยากาศของการลดความตึงเครียดใดๆ เพิ่มเติม
พันธมิตรตะวันตกกำลังฝากความหวังล่าสุดไปกับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันที่จะเดินทางเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการในวันนี้ (14 ก.พ.) ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังรัสเซียในวันอังคารที่จะถึงนี้ (15 ก.พ.) “มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้มั่นใจว่า เราจะหยุดยั้งสงครามในยุโรป ด้วยการที่เราได้ส่งข้อความอย่างชัดเจนไปยังรัสเซียว่าการรุกรานทางทหารใดๆ จะส่งผลลัพธ์ราคาสูงให้แก่รัสเซีย รวมถึงโอกาสอื่นๆ ของพวกเขา และเราจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับพันธมิตรของเรา” โชลซ์แถลงในรัฐสภาเยอรมนี
โลกกำลังจับตาการพูดคุยระหว่างผู้นำยูเครน ตลอดจนผู้นำจากชาติพันธมิตรตะวันตกกับทางรัสเซียภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงข้างหน้า เพื่อหาทางออกจากความตึงเครียดในครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นจากกองกำลังของรัสเซียที่สะสมประชิดชายแดนยูเครนแล้วนับแสน อาจจะส่งความเสียหายถึงทรัพย์สินและจำนวนชีวิตของกองกำลังและประชาชนอย่างมหาศาล และอาจกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบลง
รัสเซียยังคงยืนยันความต้องการที่จะให้ชาติพันธมิตรตะวันตกยืนยันว่า ยูเครนจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งชาติพันธมิตรตะวันตกปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก จะไม่พูดคุยถึงประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวกับทางรัสเซีย และจะยึดตามนโยบายการเปิดกว้างของทางองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่ออีกข้อเรียกร้องจากทางรัสเซีย ที่ไม่ต้องการจะให้ชาติพันธมิตรตะวันตกขยายอิทธิพลของตนเข้ามายังยุโรปตะวันออก อีกเขตอิทธิพลของทางรัสเซีย
รัสเซียยังคงกองกำลังของตนนับแสนประชิดชายแดนยูเครน ท่ามกลางการคาดการณ์โดยชาติตะวันตกว่า รัสเซียอาจตัดสินใจบุกยูเครนในทุกเมื่อ ทั้งนี้ พันธมิตรตะวันตกที่มีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรปเตือนรัสเซียมาโดยตลอดว่า การรุกรานใดๆ จะส่งผลเสียอย่างมหาศาลผ่านการคว่ำบาตรของชาติพันธมิตรต่อรัสเซีย ในขณะที่ทางรัสเซียยืนยันว่า ตนพร้อมจะพูดคุยกับชาติตะวันตกถึงข้อเรียกร้องของทางรัสเซียโดยตลอด
ที่มา: