วันที่ 21 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นําโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล โดยมี อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมข้อเรียกร้องให้ฝ่ายค้านเสนอหัวข้อในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3- 4 เม.ย. นี้ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้
1. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในเดือน พ.ย. 2566 แต่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่าทำไม่ได้ โดยมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 เพียงวันละ 363 บาท แม้ว่า เศรษฐา ให้ทบทวน แต่รัฐมนตรีแรงงานกลับยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่า รัฐมนตรีแรงงานไม่สามารถบริหาร-จัดการ ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลได้ สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้แรงงาน และทำให้ เศรษฐา กลายเป็นคนตระบัดสัตย์ โกหกหลอกลวงประชาชน ไม่มีความรับผิดชอบต่อสัญญาประชาคม ดังนั้น จึงขอให้พรรคฝ่ายค้าน ผลักดันให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในว้นแรงงาน 1 พ.ค. 2567
2. วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่พูดออกมา ทั้งๆ ที่พรรคชาติไทยพัฒนา หาเสียงว่าจะประกันรายได้ให้คนชราเดือนละ 3,000 บาท
อีกทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ หาเสียงจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท และพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่มีการเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเดือนละ 600 บาท เป็นอัตราที่ต่ำมากมาหลายปีแล้ว การไม่เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้คนชรากว่า 5 ล้านคน เป็นคนดักดาน ไร้ที่พึ่ง กลายเป็นขอทาน ในโอกาสรัฐบาลจะจัดงานมหาสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นวันครอบครัว จึงเป็นการเร่งด่วนที่จะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 1000 บาท ในวันที่ 13 เม.ย. 2567 นี้
3. ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นายทุนข้ามชาติมีการเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ไม่มีการดำเนินคดีนายจ้าง ทำให้ลูกจ้างบริษัทเอเอ็มซี แอลฟ่า และบอดี้แฟชั่น ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ดำรงชีวิต ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และมีการประชุมตกลงกันในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ว่าจะมีการเพิ่มเงินสงเคราะห์ให้ลูกจ้าง 3 บริษัท และจะของบกลางภายในวันที่ 9 ม.ค. 2567 แต่ปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการตามสัญญาข้อตกลง ไม่เพียงแต่เป็นความล้มเหลวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การเบี้ยวข้อตกลงยังเป็นการขาดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตําแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
สมยศ กล่าวว่า กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จึงเรียกร้องต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ให้มีการอภิปรายทั่วไป ตรวจสอบการหาเสียง พูดแล้วไม่ทำในประเด็นดังกล่าว และผลักดันให้มีการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ และค่าจ้างขั้นต่ำอย่างจริงจัง ตามที่หาเสียงไว้โดยทันที และตรวจสอบจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน