ไม่พบผลการค้นหา
'รังสิมันต์' สวน 'ชัยวุฒิ' พูดแต่วาทกรรมสะกดจิตตัวเอง ชี้ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารไม่เกี่ยวชังชาติ แต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างหากคือการทำร้ายเพื่อนร่วมชาติ ยัน 'ก้าวไกล' สู้สุดตัวระบบทหารสมัครใจ ลดขนาดกองทัพ-เพิ่มสวัสดิการ

วันที่ 17 เม.ย. รังสิมันต์ โรม ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ระหว่างการแถลงข่าว ได้ฝากไปถึงน้อง 'ม่อนภู' เด็กชายที่ส่งข้อความมาถึงตนและพรรคก้าวไกล ให้ช่วยผลักดันยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยน้องม่อนภูได้พลกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระหว่างการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา และฝากข้อความมา

"น้องม่อนภูอยากเห็นทหารอาชีพใช้ระบบสมัครใจ ผมเองต้องบอกกับน้องม่อนภูว่า วันนี้ผมได้รับข้อความนี้แล้ว และผมก็ยืนยันว่า ผมก็เชื่อแบบเดียวกับที่น้องม่อนภูเชื่อ ผมอยากเห็นในสิ่งที่น้องม่อนภูอยากเห็น และสิ่งนั้นก็เป็นไปได้" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ชี้ว่า นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ผลักดันนโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ดังนั้น โอกาสที่จะผลักดันการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารร่วมกัน จึงเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม การผลักดันเรื่องดังกล่าวในปี 2566-2567 ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของรัฐบาลในเวลานั้น ซึ่งหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะสู้สุดตัวเพื่อผลักดันให้การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารสำเร็จ แล้วเปลี่ยนให้เป็นการเกณฑ์ทหารระบบสมัครใจ เพื่อสร้างฐานอาชีพที่แม้จะเล็กลง แต่ก็เป็นขนาด "จิ๋วแต่แจ๋ว"

ส่วนกรณีที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ วิจารณ์นโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารว่า เป็นการรณรงค์ให้เกิดความชังชาติ ลืมรากเหง้าความเป็นไทย 

รังสิมันต์ กล่าวว่า ชัยวุฒิเป็นคนที่ไม่ค่อยดูในรายละเอียด พร้อมอธิบายว่า ไม่ใช่การยกเลิกเกณฑ์ทหารทั้งหมด หากไทยตกอยู่ในสภาวะสงคราม ก็สามารถอนุญาตให้เกณฑ์ทหารได้ แต่ไม่ใช่เกณฑ์กันทุกชั่วโมงในเวลาปกติ ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายแล้วจะไม่ได้คุณภาพ

แต่หากปรับเปลี่ยนให้ลดกำลังพล ซึ่งตั้งเป้าว่าจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และสร้างสวัสดิการ แรงจูงใจให้ดีขึ้น ทำให้การฝึกทหารมีความเป็นมืออาชีพ แม้ขนาดกองทัพจะลด แต่ได้คุณภาพเพิ่ม การเปลี่ยนเป็นระบบเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง 

"ตรงกันข้าม การเอาทหารไปเกณฑ์แบบนี้แล้วบอกว่านี่คือน้องเล็กของกองทัพ แต่สิ่งที่คุณปฏิบัติกับทหารเกณฑ์ ละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งเยอะ มีการทุจริตคอรัปชั่นตั้งเยอะ นี่คือความรักชาติหรือ การทำแบบนี้เป็นอันตรายเพื่อนร่วมชาติ เป็นการปู้ยี่ปู้ยำชาติ เพราะชาติคือประชาชน"

"คุณชัยวุฒิไม่ค่อยเข้าใจอะไร ดีแต่ฟังวาทกรรมมา และพูดโดยเชื่อว่าคงจะได้ใจกองเชียร์ พูดไปเรื่อยๆ เป็นการสะกดจิตตัวเอง ถ้าอยากเป็นรัฐมนตรีอีกรอบ ก็ไม่ควรสะกดจิตตัวเอง เพราะจะไม่สามารถมองความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เดินไปข้างหน้าได้ ประเทศอื่นๆ ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารก็ยังเป็นมหาอำนาจของโลกได้"

รังสิมันต์ ยังทิ้งท้ายว่า หากต้องการเสนอตัวมาเป็นผู้แทนของประชาชนแล้ว ก็อยากให้มีหัวใจกับประชาชน ถ้ายังแยกไม่ออกระหว่างการถูกบังคับ และความชังชาติ ก็ไม่ควรมาเป็นตัวแทนของประชาชน


โรม' ปลื้มกระแส 'ก้าวไกล' พุ่งหลังโพลเผย 'พิธา' รั้งอันดับ 1

รังสิมันต์ โรม ยังกล่าวถึงความนิยมของพรรคก้าวไกลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อของพรรค ได้กระจายตัวไปลงพื้นที่ต่างๆ ตนขอเรียนตามตรงว่าผลตอบรับของพรรคก้าวไกลตอนนี้ดีเกินคาด ตนได้ไปที่ จ.ภูเก็ตต้องบอกว่าพี่น้องประชาชนมีท่าทีเชิงบวกมาก ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานหนักของพรรคก้าวไกล การเดินสายไปในที่ต่างๆ การลงพื้นที่ การนำเสนอนโยบาย การแสดงจุดยืนทางการเมือง

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามโลกออนไลน์ พบว่าในช่วง 30 วันย้อนหลัง 10 อันดับแรก ที่ประชาชนใช้ค้นหาจะเป็นการค้นหาหมายเลขของพรรคและผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เนื่องจากพรรคก้าวไกลได้รับการค้นหาเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าทุกพรรคการเมือง 

เมื่อพูดถึงหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังทำอยู่สร้างความกังขาให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการที่ง่ายในการเข้าถึงผู้สมัคร พรรคก้าวไกลได้จัดเตรียมเครื่องมือที่เป็นเว็บไซต์ โดยสามารถดูผลงาน อัพเดตการทำงานของพรรค สามารถตรวจสอบนโยบายกว่า 300 นโยบายได้ ซึ่งจะเปลี่ยนประเทศไทยทุกมิติ

ส่วนเรื่องผลโพลมติชนและเดลินิวส์ ซึ่งพบว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก นายรังสิมันต์ มองว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พรรคก้าวไกลมีโอกาสนำเสนอจุดยืน วิธีการทำงาน การประกาศนายกแคนดิเดตนายกฯ รายชื่อผู้สมัครทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ นโยบายที่จะมอบให้กับประชาชน

"ต้องพูดจากใจไปถึงพี่น้องประชาชนว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดและได้รับการตอบรับดีขนาดนี้ พวกเราพรรคก้าวไกลขอขอบคุณพี่น้องประชาชนอย่างมาก ที่ให้ความเชื่อมั่นต่อพวกเรา ทำให้พวกเราหายเหนื่อย และผมก็ยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราทำมาทั้งหมดสะท้อนถึงความตั้งใจที่เราต้องการทำให้การเมืองดี ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่รณรงค์ด้วยนโยบายแบบหนึ่งและทำแบบหนึ่ง" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลต้องทำงานหนักกว่านี้ เพราะหากดูรายละเอียดของโพล จะพบว่าผลรวมของ เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนรวมกันมากกว่า พิธา 

"เรายังเหลือเวลาอีก 27 วันเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจกับพี่น้องประชาชน ต้องใช้โอกาสนี้ส่งสารไปถึงแฟนคลับ พี่น้องประชาชนว่าเราจะเปลี่ยน 27 วันให้พรรคก้าวไกล ทำงานหนักขึ้นให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้จริง" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ย้ำว่า จะไม่ประมาทในเวลาที่เหลือ ผลคะแนนที่ออกมาสะท้อนว่ามาถูกทาง แต่คงต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล จะมีงานใหญ่ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เป็นเวทีทัพใหญ่ก้าวไกล ปราศรัยโค้งสุดท้าย นำโดย

1) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 

2) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรค 

3) ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรค 

4) เซีย จำปาทอง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 

5) พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรค 

รังสิมันต์ เผยว่า จะเป็นหาเสียงโค้งสุดท้ายของพรรค โดยเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้สมัครทุกคนรวมถึงผู้สนับสนุนของพรรคก้าวไกลทุกคนที่อยู่ทั่วประเทศให้ช่วยกันใช้เวลาที่เหลืออย่างไม่ย่อท้อในการหาเสียง ตนยอมรับว่าเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลจะทำให้มั่นใจว่าทำให้ชนะถล่มลาย ไม่ให้ตกหล่นแม้แต่เขตเดียว 

เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ วิจารณ์นโยบายแจกเงินที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต โดย รังสิมันต์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ทุกคนควรจะได้ เปรียบเสมือนตาข่ายรองรับเมื่อเราล้ม 

"มันเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองชาวไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามจะทำ คนในสังคมอาจจะยังไม่เข้าใจในแนวคิดเรื่องนี้ แล้วคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของการแจก ทุกอย่างเป็นเรื่องของการให้ ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับอยู่แล้วจากการเป็นพลเมืองของประเทศ" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ยกตัวอย่าง รัฐสวัสดิการ 3,000 บาท ซึ่งจากการลงพื้นที่ ตนได้พบคนอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก อย่างกลุ่ม ผู้สูงอายุก็ยังต้องเสียภาษีอยู่เมื่อชราภาพแล้วเราควรมีจะขายที่เป็นสวัสดิการให้กับประชาชนเชื่อว่าหากบริหารจัดการงบประมาณดีก็จะสามารถทำได้ ก่อนย้ำว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงบัตรเลือกตั้ง ว่า การมีบัตร 2 ใบที่เลือกคนและพรรคทำให้ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งง่าย แต่ในความจริงกลับเป็นเรื่องยากกว่าเดิม พร้อมตั้งคำถามว่าการประชาสัมพันธ์ของ กกต. มีมากน้อยแค่ไหน