ไม่พบผลการค้นหา
รมว.กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติเพิ่มจ่ายเงินให้ผู้ว่างงาน เป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้างยาวถึงสิ้นปี จากเดิมจ่ายแค่ 3 เดือน

สำนักข่าวไทย รายงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงการดำเนินงานจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างให้ทำงานอันเนื่องมาจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบและไม่ได้รับค่าจ้างสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างผู้ประกันตนได้รับ คือสิทธิกรณีว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน

ล่าสุด ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งจ่ายเงินให้ผู้ว่างงานที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้แล้วเสร็จภายใน 15 พ.ค.นี้ ขณะนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 492,273 ราย เป็นเงินจำนวน 2,563 ล้านบาท และมีลูกจ้างที่ว่างงาน จำนวน 289,104 ราย ที่ยังรอนายจ้างจำนวน 50,000 แห่งเข้ามารับรองสิทธิ ซึ่งกลุ่มนี้ สำนักงานประกันสังคมและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังนายจ้างขอให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายใน 8 พ.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกปฏิเสธการรับเงิน แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือจะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ ในวันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป ที่สำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดที่ลูกจ้างทำงานอยู่ 

รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้างรายวัน ยาวไปจนถึงสิ้นปี จากเดิมที่จ่าย ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน เพียง 3 เดือน ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งจากผลของเศรษฐกิจที่มีแววว่าจะแย่ลงและอาจมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น นอกจากเสนอ ครม.ช่วยลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน  จึงเตรียมเสนอลดอัตราการเงินจ่ายเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียงร้อยละ 1 จากเดิมที่จ่ายร้อยละ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ลูกจ้าง 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า อาจมีผู้ประกันตนกว่า 1 แสนราย ถูกปฏิเสธ เนื่องจากพบว่ายังมีงานทำอยู่ แต่ก็เปิดให้ยื่นอุทธรณ์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกันตนได้รับหนังสือปฏิเสธการได้รับเงินแล้ว ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไม่มีระบบออนไลน์ ต้องยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคม หรือ ทางไปรษณีย์เท่านั้น

รมว.แรงงาน ยังเปิดเผยว่า เหตุผลที่จ่ายเงินล่าช้า เกิดจากระบบฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ตนได้ตรวจสอบว่าพบเป็นคอมพิวเตอร์ สมัยปี 2552 ที่ผู้ดำเนินการติดตั้งมีการดำเนินการไม่โปร่งใสซึ่งได้รับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช.แล้ว มีการสั่งปรับเงิน กว่า 556 ล้านบาท ตนจึงสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมหยุดทำงานอย่างอื่น ระดมคนมาช่วนเรื่องจ่ายเงินว่างงานให้แล้วเสร็จ ป้องกันความล่าช้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :