รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจแบบกีดกันการค้าอย่างต่อเนื่อง สมกับสโลแกน America First ที่ทรัมป์ใช้หาเสียง ล่าสุดก็มีการออกคำสั่งประธานาธิบดีอีก 2 ฉบับที่จะกระทบกับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯอย่างแน่นอน ก่อนจะไปดูรายละเอียดของคำสั่งทั้งสอง เรามาดูก่อนว่าตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯเป็นอย่างไร
สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น ในปีนี้ ผ่านไปเพียง 3 เดือน หรือไตรมาสแรก การค้าระหว่างกัน ทั้งส่งออกและนำเข้ารวมกัน ก็สูงกว่า 260,000 ล้านบาทแล้ว คิดเป็นร้อยละ 11 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ส่วนในปี 2016 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่สหรัฐฯส่งออกมาไทย 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าไทยค้าขายได้เปรียบ เกินดุลกับสหรัฐฯมาโดยตลอด
สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯมากที่สุด ก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตามด้วยยางรถยนต์ โดยยางรถยนต์นำเข้ากว่าร้อยละ 35 ในสหรัฐฯ มาจากไทย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นอัญมณี ทีวี รถยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เหล็กกล้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า และผลไม้กระป๋อง
สินค้า 10 ทั้งประเภทนี้ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และยางรถยนต์ ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบอย่างมากหากรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศจริงตามที่หาเสียง และแนวโน้มที่นโยบายนี้จะเกิดขึ้นจริง ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกขณะ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับ เนื้อหาของคำสั่ง 2 ฉบับมีดังนี้
1. กำหนดกรอบเวลา 90 วัน ให้มีการสอบสวนคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ 16 ประเทศ ที่สหรัฐฯค้าขายขาดดุลด้วยอย่างต่อเนื่อง ว่าใช้ "กลโกง" หรือเอาเปรียบสหรัฐฯหรือไม่
2. ให้หน่วยงานศุลกากรออกมาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ป้องกันการขายของแบบทุ่มราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งบริษัทต่างชาตินิยมใช้ จนทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาด้วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
16 ประเทศนี้ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เม็กซิโก แคนาดา เยอรมนี เวียดนาม ไอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากดูตัวเลขข้างต้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สหรัฐฯค้าขายขาดดุลมหาศาลมาตลอด และช่องว่างระหว่างปริมาณการนำเข้าและส่งออกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กลับยืนยันว่าไทยไม่ได้เป็นเป้าของสหรัฐฯ เพราะเป้าหมายของนายทรัมป์เป็นคู่ค้าใหญ่อย่างจีน เห็นได้ชัดว่านายทรัมป์ออกมาตรการนี้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนที่นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจะเดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายนนี้
นายดอนยังกล่าวอีกว่านายทรัมป์ใช้ "ช็อกเธอราพี" คือใช้ภาษาที่กระตุ้น ฟังดูหวือหวา เพื่อให้ตนเองมีผลงาน แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการออกนโยบายตามที่ประกาศไว้ทั้งหมด นายดอนย้ำด้วยว่าไทยไม่ได้อยู่ในความสนใจหากเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ถ้าจะเกิดผลกระทบต่อไทย คือเกิดผลกระทบทางอ้อม ก็คือสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีน อาจจะลดลงเพราะจีนถูกสหรัฐฯกีดกันการค้า
แต่ถึงแม้ว่านายดอนจะพูดแบบนี้ แต่ก็มีผู้ประกอบการไทยที่ออกมาเตือนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วยตัวเอง จากนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์แล้ว ก็คือผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์ แต่อุตสาหกรรมอื่นๆก็สุ่มเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารทะเลและผลไม้กระป๋อง ซึ่งถูกกดดันหนักอยู่แล้วจากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์
ที่สำคัญ หากรัฐบาลสหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษีจริง ไทยย่อมไม่สามารถทัดทานได้ นอกจากต้องหาตลาดสำรองและวางแผนช่วยเหลือภาคเอกชนเท่าที่ทำได้ พร้อมทั้งเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับอัตราการเติบโตของจีดีพีประเทศ เนื่องจากการส่งออกเป็นรายได้หลักอันดับต้นๆของไทย