องค์กรกาแฟระหว่างประเทศ หรือ ICO เปิดเผยสถิติส่งออกและบริโภคกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระบุว่า 10 ประเทศที่บริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก ได้แก่ ฟินแลนด์, สวีเดน, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ, บอสเนีย และเยอรมนี แต่ประเทศที่เป็นต้นตำรับการชงกาแฟสูตรยอดนิยมอย่างอิตาลีหรือฝรั่งเศสไม่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก
ขณะที่ ผู้ปลูกและส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก คือ บราซิล ส่งออกกาแฟในปีที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 3,060 ล้านกิโลกรัม ตามด้วยเวียดนาม, โคลอมเบีย, อินโดนีเซีย, ฮอนดูรัส, เอธิโอเปีย, อินเดีย, ยูกันดา, เปรู และเม็กซิโก ซึ่งการส่งออกกาแฟล้วนสร้างรายได้และสร้างงานในประเทศเหล่านี้จำนวนมหาศาล
แม้ว่าเดือน มีนาคมที่ผ่านมา องค์กรเพื่อผู้บริโภคจะฟ้องร้องต่อศาลประจำรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เพื่อบังคับให้ร้านกาแฟทั่วระบุคำเตือนบนภาชนะให้ผู้บริโภคทราบว่ากาแฟมีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง 'อะคริลาไมด์' ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในช่วงที่คั่วเมล็ดกาแฟ และพบได้ทั่วไปในอาหารประเภททอด แต่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆ ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าสารอะคริลาไมด์ในเมล็ดกาแฟทำให้ผู้ดื่มกาแฟเป็นประจำมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย
นอกจากนี้ ยังมีการโต้แย้งว่าการใช้ฉลากเตือนโดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือใช้กับเรื่องที่ไม่ร้ายแรง อาจส่งผลทางจิตใจต่อผู้บริโภค เพราะอาจจะทำให้เกิดความชาชินจนไม่รู้สึกว่าต้องระมัดระวังกับสิ่งที่เป็นภัยอย่างแท้จริง อย่างกรณีของกาแฟสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่สารอะคริลาไมด์ แต่ ICO เตือนว่าสิ่งที่ต้องระวังในการปลูกกาแฟ คือการใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้เพาะปลูกด้วย
ในส่วนของผู้ดื่มกาแฟก็มีการแนะนำว่า ไม่ควรดื่มกาแฟที่ร้อนเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในลำคอ และก็ไม่ควรใส่น้ำตาลมากเกินไป เพราะจะทำให้กาแฟเสียรสชาติและอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ด้วย
กาแฟเป็นสินค้าส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่น้ำมันเท่านั้น กาแฟมียอดการขายสูงถึงประมาณ 5 แสนล้านล้านแก้วต่อปี หากคิดต่อวัน จะมีคนทั่วโลกดื่มกาแฟวันละ 2,250 ล้านแก้ว ซึ่งเมล็ดกาแฟนอกจากจะถูกนำมาใช้ชงกาแฟแล้ว ยังสามารถนำไปสกัดสารคาเฟอีน เพื่อนำไปใช้ในเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ เช่นน้ำอัดลม และใช้เป็นยาและส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ด้วย