บริษัทวิจัยต่างชาติเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของเด็กในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกพบว่าเด็กไทยจ่ายเงินซื้อขนมขบเคี้ยวและของหวานมากที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กประเทศอื่นๆ ขณะที่รายงานของ OECD ระบุด้วยว่าเด็กจดจำพฤติกรรมการใช้เงินจากผู้ปกครอง
บริษัทโททัลลีออว์ซัมของอังกฤษซึ่งให้บริการวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และโฆษณาสำหรับเด็กเผยแพร่ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของเด็กอายุ 6-14 ปี จาก 7 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย รวมทั้งหมด 2,154 คน พบว่าเด็กอายุเฉลี่ย 9-11 ปีจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้รับเงินรายวันสำหรับใช้จ่ายในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการซื้อสินค้าของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านี้
ผลสำรวจพบว่าเด็กออสเตรเลียได้รับเงินค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เฉลี่ยประมาณคนละ 131 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,400 บาท รองลงมาคือเด็กสิงคโปร์ได้เงินเดือนละ 109 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,700 บาท ส่วนเด็กไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้รับเงินเป็นรายวัน และร้อยละ 45 ของเด็กที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาซื้อสินค้าที่อยากได้ผ่านทางระบบออนไลน์โดยใช้เงินของตัวเอง
นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่าเด็กไทยใช้เงินส่วนตัวเพื่อซื้อขนมขบเคี้ยวและของหวานต่างๆมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่เด็กออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ใช้เงินซื้อของเล่นมากที่สุด ส่วนโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ช่วงเทศกาลหรือวันเกิด พบว่าเด็กออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะได้รับเงินพิเศษมากกว่าเด็กในประเทศอื่นๆ
โททัลลีออว์ซัมสรุปผลสำรวจว่าเด็กในเอเชียแปซิฟิกมีความสามารถในการเก็บเงินไว้ซื้อสินค้าที่ตัวเองอยากได้โดยไม่บอกผู้ปกครอง และเด็กในวัย 6-14 ปี เป็นวัยที่สามารถประทับใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย บริษัทโฆษณาและผู้ผลิตสินค้าสำหรับเด็กจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ชี้นำเรื่องการอุปโภคบริโภคแก่เด็กมากจนเกินไป
ก่อนหน้านี้ รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่สำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเยาวชนในออสเตรเลียระบุด้วยว่าพฤติกรรมการใช้เงินของเด็กวัยรุ่นเกือบทั้งหมดเป็นการจดจำพฤติกรรมของผู้ปกครองซึ่งถ้าเด็กมีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีระเบียบวินัย ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองของเด็กก็มีพฤติกรรมแบบนั้นเช่นกันและการปลูกฝังเรื่องความสำคัญของการเก็บออมและความมีระเบียบวินัยทางการเงินให้แก่เด็กตั้งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้เด็กมีความรอบคอบและบริหารจัดการด้านการเงินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการปลูกฝังในด้านนี้เลย