ไม่พบผลการค้นหา
คลีนหรือคลั่ง
Oct 5, 2017 10:41

ทำความรู้จักโรคใหม่ที่มากับกระแสการกินคลีนเพื่อสุขภาพ แต่กลับหมกมุ่นจนกลายเป็นภัยต่อร่างกาย “Orthorexia - โรคคลั่งกินคลีน” ไม่ยอมแตะอาหารที่เข้าใจว่าไม่สะอาดบริสุทธิ์เพียงพอ

โรคคลั่งกินคลีน (Orthorexia nervosa) คือ อาการของคนหมกมุ่นกับการเลือกกินอาหารที่คิดว่าดีต่อสุขภาพ และหวาดกลัวอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพหรือปนเปื้อน จนบางครั้งก็ตัดหมวดโภชนาการที่จำเป็นออกไปโดยไม่รู้ตัว และเลือกกินแต่อาหารชนิดเดิมจนร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบ อีกทั้งยังใส่ใจแต่ปริมาณแคลอรีที่รับเข้าสู่ร่างกายเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงหลักโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

โรคคลั่งกินคลีนจะมีความคล้ายคลึงกับโรคคลั่งผอม คือ มีความกังวลกับอาหารที่กินเข้าไป เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่โรคคลั่งผอมจะไม่ยอมกินอาหารเพราะกลัวอ้วน แต่สำหรับโรคคลั่งกินคลีนจะไม่ยอมแตะอาหารที่เข้าใจว่าไม่สะอาดและบริสุทธิ์เพียงพอเลยแม้แต่นิดเดียว

อาการของโรคคลั่งกินคลีน
1. หมกมุ่นว่าอาหารที่จะกินต้องดีต่อสุขภาพเท่านั้น ชนิดที่เสียเวลาเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อพิจารณาอาหารที่จะกิน
2. ไม่ยอมรับประทานอาหารที่ผลิตจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าเป็นอาหารคุณภาพต่ำ มีสารปนเปื้อนตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยง อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
3. คำนวณจำนวนแคลอรีในอาหารที่จะกินเข้าไปแต่ละมื้ออย่างจริงจัง
4. ยิ่งกินคลีนได้มากเท่าไร ยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
5. หากเผลอรับประทานอาหารที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของตัวเองเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่คิดว่าไม่คลีน ไม่สะอาด จะพยายามโหมออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อกำจัดสิ่งที่กินออกไป หรืออาจจะกำหนดแผนการกินคลีนที่เข้มงวดกว่าเดิม
6. มีอาการย้ำคิดย้ำทำ ล้างผักแล้วล้างผักอีก หรือตรวจเช็กซ้ำ ๆ ว่าอาหารที่จะกินนั้นสะอาดและคลีนอย่างแท้จริง
7. เมื่อทำตามสิ่งที่ตัวเองตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ไม่ได้ จะเกิดความรู้สึกผิดต่อตัวเองเป็นอย่างมาก หรืออาจรู้สึกโกรธเกลียดตัวเองเลยก็ได้
8. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือรับประทานอาหารกับผู้อื่น เพื่อปกปิดพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตัวเอง
9. บางคนถึงขั้นไม่ยอมรับประทานแม้แต่อาหารที่คนรักหรือคนในครอบครัวทำให้เลย เนื่องจากไม่ไว้ใจในความ "คลีน"
สื่อสังคมออนไลน์มีผลที่ทำให้เกิดกระแสคลั่งกินคลีน เพราะการนำเสนอผ่านสื่อด้วยส่วนใหญ่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบด้านภาพลักษณ์รูปร่าง แต่ไม่ให้ข้อมูลความเข้าใจด้านโภชนาการที่ดี หรือผิดไปจากข้อเท็จจริง ทำให้คนเหล่านี้พยายามทำตามด้วยความเชื่อผิดๆ จนทำให้มีผลต่อสุขภาพในท้ายที่สุด

Source:    
http://www.ppat.or.th/th/article/orthorexia
https://www.blognone.com/node/80530
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog