ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - รถยนต์ไฟฟ้า รักษ์โลกหรือแค่ไลฟ์สไตล์ - Short Clip
Aug 26, 2019 01:01

หลังอีลอน มัสก์ ชี้ว่าสิงคโปร์ไม่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าทำให้จำหน่ายรถเทสลาในสิงคโปร์ไม่ได้ ทางรมว.สิ่งแวดล้อม สิงคโปร์โต้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงการขายไลฟ์สไตล์ 

เมื่อเดือนมกราคม อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เทสลา ชี้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์นั้นไม่ต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มัสก์ก็เคยระบุว่าได้พยายามจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาในสิงคโปร์แล้ว แต่รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน

ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยในวันที่ 21 สิงหาคม ว่ามาซากอส ซุลกิฟลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์โต้ความเห็นของมัสก์ว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นเพียงไลฟ์สไตล์ ซึ่งสิงคโปร์ไม่สนใจไลฟ์สไตล์ แต่เป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ไว้ในการแถลงนโยบายวันที่ 18 สิงหาคม ว่าความพยายามในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้น สำคัญไม่แพ้การป้องกันประเทศด้วยกองทัพ โดยชี้ว่าอาจต้องใช้งบกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้น และฝนที่ตกหนักขึ้น

แม้จะมีท่าทีเช่นนั้น แต่สิงคโปร์ก็ไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยซุลกิฟลีกล่าวว่าหากจะมีประเทศใดที่จะเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์พึ่งน้ำมันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเป็นประเทศสิงค์โปร์ ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเงื่อนเฉพาะตัวของประเทศ

สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะซึ่งมีประชากรราว 6 ล้านคน ในพื้นที่ 720 ตารางกิโลเมตรรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ อธิบายว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสิงคโปร์ อยู่ในที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนโดยรัฐ และมีความหนาแน่นของประชากรสูง เพียงการจัดสรรที่จอดรถยังเป็นปัญหา การจะตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอนั้นจึงเป็นเรื่องยาก

ปัญหาด้านพื้นที่ทำให้สิงคโปร์ได้บังคับใช้มาตรการควบคุมจำนวนรถยนต์อย่างเข้มข้นมาก่อนแล้ว เนื่องจากมองว่าการก่อสร้างถนนและการขนส่งสาธารณะจะไม่มีประสิทธิภายในระยะยาวหากไม่ควบคุมจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน

ในปี 2017 สิงคโปร์ประกาศลดโควตาการเพิ่มขึ้นของรถยนต์จนเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ต้องยื่นขอสิทธิถือครองรถยนต์(Certificate of Entitlement: COE) กับรัฐ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 31,917 ถึง 40,002 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 709,000 - 889,000 บาท) โดยจะสามารถถือครองได้ 10 ปี และต่ออายุได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นต้องทำลายรถทิ้งหรือส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ เพื่อนำโควตาสิทธิถือครองรถยนต์กลับเข้าสู่ระบบให้ผู้อื่นได้ยื่นขอสิทธิใช้รถยนต์ โควตานี้มีเป้าหมายจำกัดจำนวนรถยนต์สุทธิบนท้องถนนจะไม่เพิ่มขึ้นเกินกำหนด

สิงคโปร์ได้พยายามทดแทนด้วยการพัฒนาขนส่งสาธารณะให้รองรับความต้องการในการเดินทางได้ โดยรถเมล์และรถไฟของสิงคโปร์นั้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะสิงคโปร์ และสิงคโปร์ตั้งเป้าจะพัฒนาขนส่งมวลชนให้ภายในปี 2040 การเดินทางไปยังที่ใดก็ตามภายในประเทศนั้นใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เพิ่งมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยเป็นของบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์ หรือที่ไทยรู้จักกันว่าเชลล์ ซึ่งมีแผนจะเปิดอีก 9 สถานีภายในเดือนตุลาคม โดยทางเชลล์ได้ศึกษาพบว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของชาวสิงคโปร์ไม่เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพราะคิดว่ามีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ซุลกิฟลีประเมินว่าในระยะยาวแล้วเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการคมนาคมปลอดก๊าซคาร์บอน โดยเหตุผลส่วนหนึ่งนั้นเพราะก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองโลหะที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ ขณะที่รถยนต์ไฮโดรเจนนั้นใช้ไม่ใช้แบตเตอรี แต่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าแทน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog