สืบเนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) เนื้อหมูในจีนขาดแคลนจนราคาเพิ่มขึ้นสูงเกือบเท่าตัว กระทั่งจีนต้องปล่อยเนื้อหมูสำรองซึ่งแช่แข็งไว้ออกสู่ตลาด แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่ายังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
รัฐบาลจีนประกาศช่วงปลายเดือนสิงหาคมว่าจะเริ่มปล่อยเนื้อหมูแช่แข็งที่สำรองไว้สู่ตลาด ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งได้เริ่มดำเนินการไปก่อนแล้ว
สำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่าในวันที่ 28 สิงหาคม มณฑลไหหลำได้ปล่อยเนื้อหมูสำรองสู่ตลาดแล้ว พร้อมคาดการณ์ว่ามณฑลฝูเจี้ยนและเขตปกครองตนเองกว่างซีก็เริ่มบริโภคเนื้อหมูสำรองแล้วเช่นกัน
ทางด้านรอยเตอร์ส รายงานว่ามณฑลกวางตุ้งจะปล่อยเนื้อหมูสำรองอีก 3,150 ตัน ในช่วงวันไหว้พระจันทร์ หลังจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 จำนวนหมูเลี้ยงในมณฑลกวางตุ้งลดลงจากปีที่แล้วถึง 34 เปอร์เซ็นต์
การสำรองเนื้อสัตว์นั้นเป็นมาตรการซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1996 เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารในช่วงวิกฤต โดยทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่างมีเนื้อหมูสำรองไว้ใช้เพื่อขาดแคลน
เหลยหยี นักวิเคราะห์จากไชนาเมอร์แชนต์ซีเคียวริตีส์ (China Merchant Securities) บริษัทหลักทรัพย์ ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีเนื้อหมูสำรองแช่แข็งทั้งหมดประมาณ 990,000 ตัน ทางเหลยหยีชี้ว่าจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอจะอุดช่องว่างอุปทานเนื้อหมูที่ขาดไปกว่า 10 ล้านตันได้
จางลี่เฉิน จากบริษัทกสิกรรมแห่งเฮยหลงเจียง กล่าวว่าแม้จะรวมทั้งเนื้อหมูสำรองและเนื้อหมูนำเข้าจากต่างประเทศแล้วก็จะยังไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างอุปทานหมูที่หายไปจากโรคระบาดครั้งนี้ได้
ทางไฉ่ซิน (财新) เว็บไซต์ข่าวการเงินจีน ชี้ว่าเนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่นิยมบริโภคกันมากที่สุดในจีน โดยชาวจีนบริโภคเนื้อหมู 55 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
สำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลกระทรวงการเกษตรและชนบทจีน ว่าราคาเนื้อหมูทั่วประเทศจีนสูงขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนแตะระดับ 30-33 หยวน ต่อกิโลกรัม (ราว 129-142 บาท) และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงตรุษจีนปีหน้าในช่วงปลายเดือนมกราคม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่าในประเทศจีน ราคาเนื้อหมูในเดือนสิงหาคมสูงขึ้นถึง 46.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน และราคาที่สูงขึ้นของเนื้อหมูก็กระทบต่อราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ ด้วย โดยเนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อไก่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันในช่วง 11.6-12.5 เปอร์เซ็นต์
ผู้ผลิตเนื้อหมูรายหนึ่งกล่าวกับเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือนกว่าลูกหมูเกิดใหม่จะโตพอขายได้ สถานการณ์เนื้อหมูจีนจึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะถึงปีหน้า
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมราคา แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการเพิ่มจำนวนหมูให้กลับสู่ระดับเดิม หลังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และมีการฆ่าจำกัดจำนวนหมูกว่าล้านตัวในจีนเพื่อลดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน แต่ทำให้หมูมีโอกาสตายเฉียบพลันสูงโดยรักษาไม่ได้ กระทรวงการเกษตรจีนฯ เผยว่าจำนวนหมูเลี้ยงในเดือนกรกฎาคมนั้น ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 32.3 เปอร์เซ็นต์
ในมุมของผู้บริโภคนั้น เจ้าของภัตตาคารในกวางโจวรายหนึ่งกล่าวกับเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า ขณะนี้จีนกำลังใช้เนื้อหมูแช่แข็งมาบรรเทาปัญหาด้านราคา แต่นั่นก็ย่อมส่งผลต่อรสชาติ ลูกค้าผู้มารับประทานอาหารหลายคนกินแล้วรู้และบอกว่าพวกเขาไม่ชอบเนื้อหมูแช่แข็งเลย
นอกจากประเทศจีนแล้ว โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังระบาดอีกในหลายประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายนนี้ฟิลิปปินส์เพิ่งพบกรณีหมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นครั้งแรก และสั่งฆ่าจำกัดจำนวนหมูในรัศมี 1 กิโลเมตรไปกว่า 7 พันตัว
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าโรคอหิวาต์สุกรนี้ก็ระบาดมองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ ลาว และพม่าด้วยเช่นกัน