กองประกวดมิสยูนิเวิร์สจีน 2019 เปิดโอกาสให้ 'สาวข้ามเพศ' เข้าประกวดร่วมกับผู้หญิงโดยเพศกำเนิดได้แล้ว แต่ต้องได้รับการยอมรับทางการแพทย์และกฎหมาย ก่อนที่จะมีการประกวดรอบสุดท้ายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
กองประกวด Miss Universe China 2019 ประกาศรับสมัครผู้เข้าประกวดเชื้อชาติจีนที่อยู่ต่างแดน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. ต้องเกิดในปี ค.ศ. 1992 - 2000 อายุอย่างน้อย 18 ปี และไม่เกิน 28 ปี ก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2019
2. ถือพาสปอร์ตประเทศจีน รวมทั้ง ฮ่องกง, มาเก๊า, และไต้หวัน
3. เป็นผู้หญิง รวมทั้ง ผู้หญิงข้ามเพศ โดยต้องได้รับการยอมรับทางการแพทย์และทางกฎหมาย
4. อาศัยอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือมากกว่านั้น นับถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2019 ที่จะมีการประกวดรอบสุดท้าย (Miss Universe China Regional Competition)
จากรายงานของเว็บไซต์ SCMP กล่าวว่าหลังการผ่าตัดแปลงเพศ กลุ่มคนจีนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนเพศในบัตรประชาชนได้ แต่จะมีอุปสรรคเรื่องการเปลี่ยนข้อมูลในใบปริญญาบัตรและบันทึกทางการศึกษา ซึ่งมักจะส่งผลให้ถูกปฏิเสธเข้าทำงานหรือเรียนต่อ
ขณะที่ CNN รายงานอ้างอิง UNDP ว่า คนข้ามเพศจะต้องเจอกับข้อบังคับที่เข้มงวดก่อนที่จะผ่าตัดแปลงเพศ เนื่องจากข้อกฎหมายกำหนดว่า ต้องอายุเกิน 20 ปี ยังไม่แต่งงาน และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าต้องการที่จะผ่าตัดแปลงเพศมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี, ต้องเข้ารับคำปรึกษาหรือการบำบัดด้านจิตวิทยาอย่างน้อย 1 ปีก่อนหน้า, ไม่มีประวัติว่าไม่แน่ใจ และได้รับการยอมรับจากครอบครัว
อย่างไรก็ตามในประเทศจีนแทบจะไม่มีโรงพยาบาลที่สามารถสั่งจ่ายฮอร์โมนเพศ และถ้ามีก็ราคาแพงมาก ซึ่งฮอร์โมนส่วนใหญ่ถูกค้าขายอยู่ในออนไลน์ หรือรู้กันแบบปากต่อปาก แต่คนข้ามเพศในประเทศจีนกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีช่วงอายุลดลง ดร.จ้าว เย่เต๋อ ศัลยแพทย์จีน ซึ่งทำหน้าที่แปลงเพศ กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ตกราวปีละ 20-30 เคส แต่สมัยนี้ปีละราว 200 เคส
ขณะที่การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ได้สร้างปรากฎการณ์ เมื่อ 'อังเคลา ปอนเซ' สาวข้ามเพศจากประเทศสเปน ผู้ครองตำแหน่ง Miss Universe Spain 2018 เข้าร่วมประกวดในเวทีระดับโลกด้วย
ซึ่งหากย้อนไป เมื่อปี 2012 ตามรายงานของ E News การให้สิทธิ์สาวข้ามเพศเข้าประกวดเกิดขึ้นหลังจาก เจนนา ทาลัคโควา (Jenna Talackova) สาวประเภทสองรายหนึ่งเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สแคนาดา 2012 แต่ถูกตัดสิทธิ์ เพราะถูกจับได้ว่าเป็นชายแปลงเพศแล้วมาสมัคร จนกระทั่งทางกองประกวด ได้อนุญาตให้สิทธิ์เธอสามารถกลับเข้าไปประกวดได้ตามปกติ เพราะเธอถือบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง และใบอนุญาตขับขี่ ที่ระบุว่าเป็นเพศหญิง ต่อมา 'โดนัลด์ ทรัมป์' อดีตผู้จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส (MUO ) มีการแก้ไขกฎการประกวด ให้สาวประเภทสอง ที่ผ่านการแปลงเพศเป็นหญิง สามารถร่วมประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์สได้อย่างถูกต้อง ในปี 2013
อย่างไรก็ตาม 'เหงวียน เฟือง วี' สาวข้ามเพศและรองชนะเลิศอันดับ 1 The Tiffany International 2018 ได้ยื่นใบสมัครประกวดมิสยูนิเวิร์สเวียดนาม 2019 แต่ทางกองประกวดไม่สามารถรับใบสมัครของเธอไว้ได้ เนื่องจากผิดกฎระเบียบของกองประกวด แม้เวียดนามจะมีกฎหมายการผ่าตัดแปลงเพศและเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว