ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - นักกีฬาอีสปอร์ตมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ - Short Clip
Aug 26, 2019 01:15

ภาพรวมธุรกิจเกี่ยวกับ 'อีสปอร์ต' มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลก และนักกีฬาอีสปอร์ตที่ชนะการแข่งขันระดับโลกก็กลายเป็นแรงบันดาลใจของเยาวชนจำนวนมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การแข่งขันอีสปอร์ตกระทบต่อสุขภาพ คนในวงการต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานการดูแลนักกีฬาด้วย

สื่อธุรกิจในต่างประเทศคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2019-2023 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตจะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยประเมินจากตัวเลขการแข่งขันอีสปอร์ตที่จัดขึ้นในประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงยอดจำหน่ายบัตรชมการแข่งขัน การขายโฆษณา การเก็บค่าธรรมเนียมด้านลิขสิทธิ์สำหรับการเผยแพร่และมีส่วนร่วมในการแข่งขันอีสปอร์ตแต่ละครั้ง รวมถึงงบประมาณที่หลายภาคส่วนใช้สนับสนุนโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอีสปอร์ต

นวัตกรรมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเกม จอบังคับ หรืออุปกรณ์เสมือนแต่ละแบรนด์ พยายามแข่งกันพัฒนาและเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ กระตุ้นให้บรรยากาศด้านการลงทุนของธุรกิจอีสปอร์ตมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และการแข่งขันอีสปอร์ตระดับนานาชาติต่างๆ ถูกจัดขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด มีการจัดแข่งขัน The International ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตคว้ารางวัลทั้งที่เป็นเงินสดและของรางวัลอีกเป็นจำนวนมาก จน 'นักกีฬาอีสปอร์ต' กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันจะเข้าวงการ

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว AFP ได้รายงานถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาอีสปอร์ต เช่น เอฟจีนี รี ชาวคีร์กิสถาน ผู้เข้าแข่งขันเกม The International ที่เซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่าเขามีปัญหาด้านการมองเห็น หลังจากเล่นเกมมานานเกือบสิบปี ทั้งในช่วงก่อนและหลังจากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตให้กับทีม NAVI เหตุผลหลักที่ทำให้เขาสายตาพร่า เกิดจากการจ้องหน้าจอการแข่งขันอีสปอร์ตในระยะใกล้เป็นเวลานาน

จักษุแพทย์แนะนำให้เขาพักสายตา งดจ้องจอที่มีภาพเคลื่อนไหวหรือเล่นเกมอย่างน้อย 6 เดือน จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพดวงตาให้ดีขึ้นได้ พร้อมทั้งบอกให้เขากลอกตาในทิศทางต่างๆ เช่น บนลงล่าง ซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย เพื่อออกกำลังสายตา แต่เขาไม่สามารถทำตามคำแนะนำของแพทย์ได้ เพราะอาชีพหลักตอนนี้คือการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต

เอเอฟพีรายงานว่า นักกีฬาอีสปอร์ตจำนวนหนึ่งมีกลุ่มอาการ 'ประสาทมือชา' หรือ CTS (Carpal Tunnel syndrome) ซึ่งเกิดจากการใช้มืออย่างไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป ทำให้รู้สึกเจ็บ ชา และเป็นเหน็บที่มือหรือแขน ถ้าอาการหนักมากอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ CTS ไม่ได้พบเฉพาะในนักกีฬาอีสปอร์ต แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับพนักงานออฟฟิศจำนวนมากด้วยเช่นกัน และเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม

ด้าน 'โรมัน ดีวอรีอันคิน' ผู้จัดการทีมเวอร์ชัสโปร ( Virtus.Pro) ของรัสเซีย ระบุว่า แนวคิดเรื่องการรักษาสุขภาพของนักกีฬาอีสปอร์ตเกิดขึ้นได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก แม้จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็ตาม

เขาย้ำว่า ทุกทีมที่เข้าแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตจะต้องให้ความรู้และตั้งกฎระเบียบให้นักกีฬารู้จักบริหารจัดการตัวเอง ต้องหยุดพักเมื่อเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงต้องหมั่นออกกำลังกายและยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการแข่งอีสปอร์ตที่มีต่อสุขภาพของผู้เล่น

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องสายตาและกล้ามเนื้อ ผู้จัดการทีมเวอร์ชัส.โปร ระบุด้วยว่า นักกีฬาอีสปอร์ตจำนวนมากมีปัญหาเรื่อง 'ระบบย่อยอาหาร' เป็นผลจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รวมถึงการนั่งเล่นเกมเป็นเวลานาน ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีนัก และการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ได้ผลต้องเริ่มจากตัวนักกีฬาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ 'เฮดสตัฟ' HeadStuff สื่อด้านสุขภาพในสหรัฐฯ เตือนว่า ภาวะเคร่งเครียดและแรงกดดันที่เกิดจากการแข่งขันอีสปอร์ตอาจจะส่งผลต่อสภาวะจิตใจของนักกีฬาเช่นกัน โดยเฉพาะนักกีฬาที่ยังเป็นเยาวชน และต้องเปลี่ยนสถานะจากนักเล่นเกมเพื่อความสนุกสนานมาเป็นนักกีฬาซึ่งต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะ โดยมีเงินรางวัลและชื่อเสียงของทีมหรือบริษัทผู้ให้การสนับสนุนเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่ง

เฮดสตัฟยกตัวอย่าง 'จัสติน แม็กแกรธ' หรือ 'พลัพ' ตัวเก็งที่มีผู้คิดว่าจะชนะการแข่งขัน Evo 2018 มหกรรมอีสปอร์ตซึ่งจัดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว เพลี่ยงพล้ำทีมคู่แข่งเพราะอยู่ดีๆ เขาก็นิ่งค้างไปอึดใจหนึ่งขณะแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และภายหลังจึงมีการแถลงข่าวว่า 'พลัพ' มีอาการของ 'โรคแพนิก' หรืออาการตื่นตกใจกลัวอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง และพลัพยอมรับว่าเขาต้องพักรักษาอาการที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในบางประเทศยังคงถกเถียงว่าอีสปอร์ตควรถูกนับเป็นกีฬาหรือเป็นเพียงการเล่นเกม แต่สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาได้ลงมติเห็นชอบให้รับรองอีสปอร์ตเป็น 'ชนิดกีฬา' นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2560 เป็นต้นมา และอนุญาตให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาในประเทศไทยได้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog