ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - หลายประเทศทั่วโลกวางแผนรับมือ 'วิกฤตขาดแคลนน้ำ' - Short Clip
Aug 12, 2019 05:02

ผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบุว่า 17 ประเทศทั่วโลก เสี่ยงที่จะเจอวิกฤตน้ำขั้นรุนแรง ส่วนไทยติดกลุ่ม 'เสี่ยงปานกลาง' และทั่วโลกจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดี หลายประเทศมีวิธีการที่น่าสนใจ และอาจนำมาปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกได้

สถาบันทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ หรือ 'ดับเบิลยูอาร์ไอ' (WRI) เผยแพร่รายงานสถานการณ์น้ำทั่วโลก ประจำปี 2019 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า หลายประเทศทั่วโลกอยู่ใน 'กลุ่มเสี่ยง' ที่จะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรงในอนาคต และภาวะขาดน้ำจะเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด 

การรวบรวมข้อมูลทำรายงานของ 'ดับเบิลยูอาร์ไอ' อาศัยสถิติของหน่วยบริหารจัดการน้ำในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงรุนแรง กลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงปานกลางระดับสูง กลุ่มเสี่ยงปานกลางระดับต่ำ และกลุ่มเสี่ยงต่ำ

ทั้งนี้ 17 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรุนแรงที่จะเผชิญกับวิกฤตน้ำ คือ กาตาร์ อิสราเอล เลบานอน อิหร่าน จอร์แดน ลิเบีย คูเวต ซาอุดีอาระเบีย เอริเทรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซานมารีโน บาห์เรน อินเดีย ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน โอมาน และบอตสวานา

ขณะที่ 'ไทย' ติดกลุ่มประเทศเสี่ยงปานกลางระดับสูง กลุ่มเดียวกับอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน เยอรมนี ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ในอีกหลายภูมิภาค รวมทั้งหมด 23 ประเทศ

ส่วนสาเหตุที่จะทำให้เกิดวิกฤตน้ำ ได้แก่ สภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติบ่อยขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการบริโภคทรัพยากรน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายประเทศที่ประสบวิกฤตน้ำอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการน้ำ จนรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง

รายงานของ 'ดับเบิลยูอาร์ไอ' ระบุว่า ประเทศที่สามารถปรับตัวรับมือวิกฤตน้ำได้อย่างเป็นระบบ ได้แก่ โอมาน ซึ่งนำทรัพยากรน้ำในประเทศราว 82 เปอร์เซ็นต์มาใช้ในการอุปโภคบริโภคล่วงหน้าแล้ว เมื่อประสบปัญหาภัยแล้งที่หนักหน่วงขึ้น โอมานใช้วิธีบำบัดน้ำเสียประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์กลับมาใช้ใหม่ ส่วนประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บาห์เรน คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี นำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต

นอกจากนี้ 'ดับเบิลยูอาร์ไอ' แนะนำว่า การรณรงค์ลดการใช้น้ำในครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผล โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำต่างๆ ส่วนการเกษตรและการชลประทาน ควรจะต้องพิจารณาแบ่งโซนประสบภัยแล้ง และรณรงค์เปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำเยอะ เช่น ข้าวหรือฝ้าย ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ทนแล้งได้แทน

ส่วนรายงานธนาคารโลก (World Bank) สนับสนุนข้อเสนอของ 'ดับเบิลยูอาร์ไอ' เช่นกัน พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐบาลทั่วโลกจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาขาดแคลนน้ำ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนและสัตว์ต่างๆ ปัญหาขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตร และอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้น้ำ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และเหมืองแร่


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog