ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - นักวิจัยสร้าง 'หุ่นยนต์หางมนุษย์' เพื่อผู้สูงอายุ - Short Clip
Aug 21, 2019 00:16

นักวิจัยญี่ปุ่น สร้าง 'หุ่นยนต์หางมนุษย์' หวังแก้ปัญหาการทรงตัวของผู้สูงอายุ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่นเดินหน้าวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์หางมนุษย์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการทรงตัว 'ดับด์อาร์ก' หุ่นยนต์หางสีเทาความยาว 1 เมตร ที่มีความละม้ายคล้ายทั้งหางของเสือชีต้าและสัตว์มีหางอีกหลายชนิด ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดียิ่งขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การวิ่ง และการเดินขึ้นพื้นที่ชัน

'จุนอิจิ นาเบชิมา' นักศึกษาปริญญาโทและนักวิจัยจากทีมพัฒนาหุ่นยนต์หางมนุษย์ กล่าวว่า เมื่อสวมเข้าไป หางหุ่นยนต์นี้จะเปรียบเสมือนลูกตุ้มสร้างความสมดุล เมื่อมนุษย์ขยับตัวไปด้านหนึ่ง หางจะขยับไปในทิศตรงกันข้าม

หางยนต์อัจฉริยะนี้ใช้เทคโนโลยีกล้ามเนื้อเสมือนจริงและระบบอัดอากาศเพื่อการเคลื่อนตัวถึง 8 ทิศทาง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้จะต้องพัฒนาในขั้นตอนการวิจัยอีกสักพัก

“มันคงดีถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือในการทรงตัว” นาเบชิมา กล่าว

นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุแล้ว ทีมนักวิจัยยังอยากพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ทำงานในคลังสินค้าและต้องยกของที่มีน้ำหนักมากด้วยเช่นกัน

ขณะที่หลายประเทศกำลังมองหาผู้อพยพเพื่อเข้ามาเติมเต็มอัตราคนงานที่น้อยลงเนื่องจากภาวะสังคมสูงอายุ ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหานี้หนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจะเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาควบคู่กันไป

สมาชิกทีมวิจัย 'หุ่นยนต์หางมนุษย์' อีกรายหนึ่ง คือ 'ยาเมน ซาระอิจิ' บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหุ่นยนต์ต้นแบบชิ้นนี้ คือ 'ม้าน้ำ' หลังจากที่ในตอนแรก พวกเขาพยายามออกแบบหางโดยเลียนแบบสัตว์บกอย่างเสือหรือแมว แต่ก็พบว่าหางเหล่านั้น 'เบาเกินไป' แต่เมื่อพวกเขาลองออกแบบโดยยึดหลักการเคลื่อนไหวของ 'หางม้าน้ำ' ก็พบว่าการรักษาสมดุลแก่ผู้ที่สวมใส่ 'หุ่นยนต์หาง' ทำงานได้ดีกว่ามาก 

โดยที่น้ำหนักของหางจะต้องเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวโดยรวมของผู้สวมหางนี้ แต่ทีมวิจัยย้ำว่า ขั้นตอนพัฒนาหุ่นยนต์หางมนุษย์ยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะนำมาใช้งานได้จริง เพราะพวกเขาต้องการศึกษาผลข้างเคียงในระยะยาวต่อผู้ที่สวมหุ่นยนต์หางมนุษย์เพื่อช่วยเรื่องการเคลื่อนไหว ก็เลยตั้งเป้าว่าจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระศาสตร์อีกประมาณ 5 ถึง 10 ปี เพื่อดูว่าการสวมหุ่นยนต์หางมนุษย์มีผลต่อร่างกายของผู้สวมใส่หรือไม่ 

ส่วนการพัฒนาอีกอย่างจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ซึ่งทีมวิจัยอยากจะนำมาปรับใช้ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของหางให้รวดเร็วและตอบสนองกับปฏิกิริยาของผู้สวมใส่อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยพวกเขาอยากจะทดสอบว่า ถ้าสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวผู้สวมหุ่นยนต์หางมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วจะปรับสมดุลอย่างไร เช่น การเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่มีลมพัดแรง หุ่นยนต์หางก็ควรจะช่วยให้ผู้สวมใส่ทรงตัวได้ดีขึ้น

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog