หลังจากที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง 'กระเบนราหู' ไปคว้ารางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ของอิตาลี ได้เป็นครั้งแรก ล่าสุด เราได้ไปคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของการสะท้อนปัญหาโรฮิงญาออกมาในผลงานชิ้นนี้
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ของอิตาลี เป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1932 และถือเป็นหนึ่งในสามเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก จนได้รับการขนานนามให้เป็น Big Three ร่วมกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ของฝรั่งเศส และเทศกาลเบอร์ลิน ของเยอรมนี ซึ่งการจะมีผลงานไปฉาย หรือแม้แต่ร่วมประกวด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่ล่าสุด พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง สามารถนำภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเองไปรับรางวัลการประกวดสายรอง 'ออริซอนติ อวอร์ส' มาได้ นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง 'กระเบนราหู' หรือ Manta Ray
ผลงานชิ้นนี้ถ่ายทอดให้เห็นอัตลักษณ์ความเป็น 'พวกเรา' และความเป็น 'คนแปลกหน้า' ซึ่งหากไม่มีข้อความอุทิศให้แด่โรฮิงญาช่วงต้นเรื่อง ผู้ชมก็จะไม่ทราบเลยว่า ตัวละครในเรื่องเป็นใคร มาจากไหน ทั้งนี้ เพราะพุทธิพงษ์ต้องการสะท้อนถึงความคลุมเครือในอัตลักษณ์ ไม่เพียงแต่ในประเด็นโรฮิงญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อพยพและลี้ภัยทั่วโลก โดยใช้โลเคชันในการถ่ายทำ หรือก็คือเส้นแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์กำหนดพื้นที่ความเป็นพวกเรา-พวกเขา และชื่อ 'กระเบนราหู' ก็เป็นหนึ่งในสัญญะที่เขาเลือกมาอธิบายแนวคิดทั้งหมดด้วย
จากการเป็น 'สัตว์แปลกหน้า' ที่ร่อนเร่ไปในทะเลเรื่อย ๆ ภายใต้รูปลักษณ์ที่น่าหวาดระแวงของกระเบนราหู ทำให้นี่กลายเป็นสัญญะสำคัญที่พุทธิพงษ์เลือกมาอธิบายผู้อพยพลี้ภัยได้ดีที่สุด โดยภาพยนตร์เล่าถึงตัวละครโรฮิงญาที่กำลังบาดเจ็บ และในชาวประมงผู้มีน้ำใจเข้าไปช่วยเหลือ จนสุดท้าย เมื่อชาวประมงเจ้าบ้านหายตัวไป ผู้มาเยือนคนนี้ก็ได้ใช้ชีวิตต่อไปในบ้านของชาวประมง เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีความรู้สึกต่อตัวละครนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
แนวคิดหนึ่งที่พุทธิพงษ์กล่าวถึง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในปัจจัยต่อยอดไปสู่ปัญหาการปฏิเสธผู้อพยพในประเทศต่าง ๆ ก็คือแนวคิดชาตินิยม ที่ตัวเขาบอกชัดเจนว่าไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะการนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองของคนบางกลุ่ม ถูกแสดงออกมาโดยการกดอัตลักษณ์ผู้อื่นลง และนั่นก็นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งปัจจุบัน Refugee Crisis หรือ ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ผู้ชมต่างชาติ เช่น ในเทศกาลเวนิส ตอบรับผลงานเขาอย่างดี
ทั้งนี้ พุทธิพงษ์ กล่าวว่าตัวเขาไม่ได้เรียนจบมาทางภาพยนตร์ แต่มองภาพยนตร์เป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอแนวคิด ซึ่งหลังจากนี้ก็เริ่มคิดถึงโปรเจกต์ใหม่แล้ว ทั้งโปรเจกต์ที่ตัวเขาเป็นผู้กำกับภาพ หรือ ช่างภาพ ซึ่งเป็นอาชีพแต่เดิม และโปรเจกต์ที่ตัวเขาเป็นผู้กำกับ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีกำหนดแน่ชัด เพราะตอนนี้ต้องนำ 'กระเบนราหู' ไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศที่ติดต่อมาเสียก่อน โดยที่ยืนยันมาแล้วก็มีเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ในเกาหลีใต้ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 4 ถึง 16 ตุลาคม และเทศกาลภาพยนตร์ผิงเหยา เทศกาลใหม่ในจีน ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เท่านั้น ที่จะจัดขึ้นวันที่ 11 ถึง 20 ตุลาคม ในไทยยังรอวางกำหนดฉายอยู่