หนึ่งในไอเดียการสร้างอาหาร เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของประชากรโลก ก็คือการสร้างเนื้อสัตว์สังเคราะห์ เทคโนโลยีนี้อยู่ใกล้เรามากน้อยแค่ไหน
บทความล่าสุดเกี่ยวกับอาหารทางเลือกและเทคโนโลยีของ เดอะ เทเลกราฟ ใช้ชื่อว่า 'ความเฟื่องฟูของธุรกิจเนื้อทางเลือก: ทำไมไก่และวัวในอนาคตถึงจะมาจากห้องแล็บ' โดยระบุถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่รวมตัวกันตั้งบริษัท ที่ชื่อว่า 'จัสต์' (Just) ซึ่งเพิ่งจะประกาศความสำเร็จในการสร้างนักเก็ตไก่ที่มาจากสเต็มเซลล์จากขนไก่ไปเมื่อไม่นานมานี้
จัสต์ หวังว่าจะนำเนื้อไก่ทางเลือกนี้เข้าสู่ตลาดและขายเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการทำธุรกิจอาหารเท่านั้น เบื้องต้น ผู้บริหารของจัสต์คาดการณ์ว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า สินค้าประเภทนี้จะได้รับความนิยมมาก จะมีราคาถูกลง และดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อที่มาจากสัตว์จริง ๆ
ทั้งนี้ เนื้อห้องแล็บ หรือ เนื้อทางเลือก ถูกพัฒนาจนสำเร็จครั้งแรกเมื่อปี 2013 ที่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาสทริชต์ ในเนเธอร์แลนด์ คิดค้นเนื้อวัวสำหรับทำเบอร์เกอร์ ซึ่งพัฒนามาจากเซลล์ที่เติบโตในห้องทดลอง นับตั้งแต่นั้น การลงทุนในเนื้อทางเลือกก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ก็หันมาจับกระแสนี้กันอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอยู่ในมือ
ปัจจุบัน ปริมาณการบริโภคเนื้อทั่วโลกอยู่ที่กว่า 300 ล้านตันต่อปี มากกว่าปริมาณเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เกินกว่าเท่าตัว ซึ่งการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และเป็นต้นเหตุหนึ่งของแก๊สเรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนถึง 14.5% ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลก และยังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน งานวิจัยหลายฉบับก็ชี้ว่า การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอกประเภทต่าง ๆ เป็นตัวขับเร่งให้เกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดและหัวใจ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การผลิตเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง 'ชอบธรรม' และเป็นแนวทางที่น่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ
อีกบริษัทหนึ่งที่กำลังพัฒนาเนื้อทางเลือกก็คือ 'อิมพอสซิเบิล ฟู้ดส์' (Impossible Foods) ที่พัฒนาเนื้อเบอร์เกอร์จากพืช หรือก็คือจากโปรตีนถั่วเหลือง ซึ่งชุ่มฉ่ำเมื่อนำไปทอดคล้ายกับเนื้อจริง ซึ่งเมื่อดูภาพรวมตลาดแล้ว ธุรกิจการขายเนื้อจากพืชเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 24% ในสหรัฐฯ ขณะที่ การบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ที่ไม่ใช้นม เช่น ชีส เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม ก็เติบโตขึ้น 50% เช่นกัน ส่วนนมจจากพืชก็เติบโตขึ้น 15% เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจทั้งในมุมผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ว่าได้
ทั้งนี้ การทำด้านเนื้อทางเลือกเป็นการจับกลุ่มเป้าหมาย 'คนกินเนื้อ' เพราะคนกินมังสวิรัติหรือวีแกนในสหรัฐฯ มีอยู่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น
อีกบริษัทหนึ่งที่ 'กำลังมา' คือ 'บียอนด์ มีต' (Beyond Meat) ซึ่งเน้นผลิตเนื้อเบอร์เกอร์จากพืชเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ในสหรัฐฯ ด้วย โดยมีสินค้าหลากหลายทั้งเนื้อ หมู ไก่ และผู้ลงทุนอย่าง บิล เกตส์ ทั้งยังเป็นพันธมิตรธุรกิจกับร้านดังอย่าง TGI Friday’s และซูเปอร์มาร์เก็ตดังอย่าง เทสโก ด้วย
ล่าสุด หนึ่งในบริษัทที่กล่าวมาอย่าง อิมพอสซิเบิล ฟู้ดส์ เพิ่งระดมทุนได้สูงกว่า 400 ล้านดอลลาร์ หรือ 13,000 ล้านบาท เท่ากับเป็นการการันตีว่าตลาดนี้จะเติบโตอย่างน่าจับตาได้อีกนาน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ว่าเนื้อทางเลือกอาจไม่ได้ 'กรีน' หรือดีต่อโลกอย่างที่พยายามโฆษณา และยังไม่มีการวิจัยยืนยันตัวเลขการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในกระบวนการทั้งหมดที่แน่นอน เพียงแต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ยังต้องพัฒนาต่อไปเท่านั้น