สมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) ศูนย์รวมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับโลก ออกมาเผยว่า การเปิดเสรีให้มีการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างอิสระ เป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลในเอเชีย พร้อมผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางในการส่งข้อมูลในอาเซียน
จีเอสเอ็มเอ (GSMA) ผู้แทนผลประโยชน์ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก และเป็นสมาคมศูนย์รวมของผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 750 ราย ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกมาเผยข้อมูลรายงานในการประชุม Mobile 360 - Digital Societies โดยระบุว่า ในปัจจุบันมีการไหลเวียนของข้อมูลด้านดิจิทัลมากมายในแต่ละประเทศ และการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนเหล่านี้ ช่วยให้จีดีพีโลกเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านของการเป็นพลเมืองดิจิทัล เข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ ในแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ที่มีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนั้น ผู้คนยังต้องพึ่งการรีวิว และข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
โดย จีเอสเอ็มเอ ได้จำแนกกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ที่มีการไหลเวียนของข้อมูลออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ประเทศกลุ่ม Pro-Flow Policy ที่สนับสนุนการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศอย่างอิสระแบบเต็มรูปแบบ และประเทศกลุ่ม No-Flow Policy ที่จำกัดการรับส่งข้อมูล หรือมีแนวคิดที่จำกัดการไหลเวียนของข้อมูลระหว่างประเทศ
ซึ่งจากรายงาน ทางจีเอสเอ็มเอ เล็งเห็นว่า ไทยมีประสิทธิภาพในการเป็นประเทศกลุ่ม Pro-Flow Policy และกำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงสนันสนุนให้ภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญเรื่องการกำหนดกรอบ ด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลทั่วภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างโอกาสการขยายตัวของการค้าในระดับที่ใหญ่ขึ้น และเพิ่มการเติบโตจีดีพีอีกด้วย
"ถ้าข้อมูลต่าง ๆ มีการไหลเวียนที่อิสระเพิ่มมากขึ้น ภายในเอเปกและภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคจะเติบโตขึ้น เพราะถ้าข้อมูลมีการไหลเวียนแล้ว จะช่วยให้ธุรกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้น เข้าถึงบริการได้ดีขึ้น มีพลังขับเคลื่อน และเข้าร่วมในระบบนิเวศดิจิทัลอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย นอกจากนี้ ยังให้ประโยชน์ด้านสังคมเศรษฐกิจ อาจช่วยในการเข้าถึงความรู้ ข่าวสาร วัฒนธรรม และความบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งมันส่งผลดีในภาพรวม"
นอกจากนี้ จีเอสเอ็มเอ ยังมองว่า รัฐบาลในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชีย สามารถขยายเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลของภูมิภาค และสร้างประโยชน์ทางสังคมเศรษฐกิจให้กับประชากรได้เพิ่มขึ้น โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ไม่จำเป็น ที่ควบคุมการไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ และยังมองอีกว่า การทำให้กฎเกณฑ์ข้อบังคับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีความสมดุลกัน สามารถส่งผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ ไอโอที และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย
ซึ่งความร่วมมือด้านมาตรการข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ไม่มีอุปสรรคในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในเอเชีย แต่ส่งผลถึงภาพรวมจีดีพีทั่วโลก และจีเอสเอ็มเอ เผยว่า การใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดขึ้นเองในแต่ละประเทศ เพื่อบังคับใช้และควบคุมข้อมูลของประชากรในประเทศ จะเป็นการตีกรอบ รวมถึงเป็นการจำกัดขีดความสามารถขององค์กรต่าง ๆ ในเอเชีย ในการนำเสนอสินค้า หรือบริการต่าง ๆ สู่ผู้บริโภคในตลาดที่กว้างขึ้นในอนาคต โดยเสนอให้ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน หามาตรการในการปิดช่องว่างความแตกต่างของกฎและข้อบังคับด้านข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งและไปในทิศทางเดียวกัน
Source
YouTube/The GSMA