“อ.พิชญ์-อ.วิโรจน์” ชวนคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำและปากท้อง หยิบประเด็นที่ธนาคารโลกชี้ “คนไทยจนลง” แถมช่วงหลังรัฐประหาร 57 จนหนัก แต่รัฐบาลเดินหน้าออก “มาตรการแจกเงิน” ย้ำ! ยิ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยิ่งทำคนไม่เชื่อมั่น เหมือนทำงานไปวัน ๆ แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น “อ.พิชญ์” ชี้รอบนี้ฐานรากพังก่อน น่ากลัวกว่าปี 40
ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ความยากจน และแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ พบว่าไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเมื่อปี 31 ที่มีสัดส่วนคนยากจนมากกว่า 65% เป็นต่ำกว่า 10% ในปี 61 แต่การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น
โดยระหว่างปี 58-61 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% อีกทั้งจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 61 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงเวลานี้จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ในขณะที่อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 60
รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเร็ว เกิดขึ้นพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ GDP เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ 2.7% ในช่วงไตรมาส 4/62 และภาวะภัยแล้งได้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว
Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ครัวเรือนก็ยังเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ"
การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของประเทศไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้
นับตั้งแต่ปี 31 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้จัดพิมพ์อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่า ที่ผ่านมาอัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 61 และ 59 ที่เหลือเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 3 ครั้งในปี 41, 43 และ 51 ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา
ขณะที่ประเทศไทยมีตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดีในระดับที่ดี เช่น การเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ สุขาภิบาล และการมีไฟฟ้าใช้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งอัตราความยากจนระดับรุนแรงของประเทศไทยที่ใช้มาตรฐานสากลเป็นตัววัด คือจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐ/วัน มีเพียง 0.03%
ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ความมั่งคั่งยังคงไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุด 40% ได้ดีนัก ในช่วงปี 58-60 ที่ผ่านมา ยังพบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ติดลบอีกด้วย แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันของกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าแรง และรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง