ธนาคารโลกจัดอันดับการพัฒนาทุนมนุษย์ของ157 ประเทศ ระบุไทยอยู่ในอันดับที่ 65 ตามหลังเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับที่ 48 ขณะที่สิงคโปร์ครองตำแหน่งแชมป์โลก
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2561 ธนาคารโลกแถลงรายงานผลการจัดอันดับการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในระบบใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆ ลงทุนด้านการศึกษาและการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รายงาน 'ดัชนีทุนมนุษย์' มีการวัดความสำเร็จของประเทศต่างๆใน 3 ด้าน คือ การจัดการศึกษา การบริการด้านสุขอนามัย และอัตรารอดชีวิตของเด็ก ซึ่งพบว่าประเทศยากจนในทวีปแอฟริกาได้คะแนนต่ำสุดในบรรดา 157 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่รั้งท้ายในดัชนีนี้คือ ชาด กับเซาท์ซูดาน
ประเทศที่ได้ 5 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นประเทศเอเชียตะวันออก โดยสิงคโปร์มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 0.88 (คะแนนยิ่งเข้าใกล้ 1 แปลว่า ยิ่งมีการพัฒนาทุนมนุษย์สูง) ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟินแลนด์
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65 โดยได้คะแนน 0.60 ตามหลังมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.62) ขณะที่เวียดนามครองความโดดเด่นด้วยอันดับที่ 48 (คะแนน 0.67)
ประเทศในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกจัดอันดับถัดจากไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และลาว
ธนาคารโลกเตือนว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้าทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ใช้ฝีมือต่ำหลายประเภท ผู้คนจำนวนมากที่ได้รับการศึกษาน้อยและสุขภาพไม่ดี จะหางานทำได้ยาก