เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จี้ กกต. ทบทวนสูตรคำนวณ ส.ส. ปาตี้ลิสต์ ชี้ศาล รธน. ไม่ได้วินิจฉัย ให้ใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง เพียงย้ำไม่ขัด รธน. ต้องมีเพียง 16 พรรคเข้าสภาเท่านั้น ไม่ใช่สูตร 27 พรรค
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลืือกตั้ง หรือ กกต.เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยให้ยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ต้องคิดตามจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ประมาณ 71,000 คะแนนเป็นเกณฑ์เท่านั้น
ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ศาลไม่ได้วินิจฉัยสูตรคำนวนของ กกต.ที่จะมีพรรคการเมือง ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 27 พรรคนั้นชอบหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องออกแบบ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าต้องยึดมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญซึ่งพรรคการเมืองที่ได้ ต่ำกว่า 71,057.4980 คะแนน หรือประมาณ 71,000 คะแนน ต้องไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เว้นแต่พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. เขตเกินจำนวนส.ส.พึงมี ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพียง 15 พรรคการเมืองเท่านั้น
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวด้วยว่าหากใช้สูตรคำนวณที่ของ กกต.ที่จะมีพรรคการเมืองถึง 27 พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยทั้งที่จำนวนมากได้เสียงน้อยกว่า 71,000 คะแนนนั้นจะเกิดผลเสียอย่างน้อย 3 ประการคือ
1) ที่นั่ง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จะหายไป 7-8 ที่นั่งรวมถึงพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์และอื่นๆ เช่นกัน และคะแนนรวมทุกพรรคที่จะหายไปมีเกือบ 1 ล้านคะแนนเสียง
2) พรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวและชนะในระดับเขตด้วยคะแนน 3-4 หมื่นคะแนน แต่พรรคเล็กได้ทั้งประเทศรวมกันไม่กี่หมื่นคะแนน แต่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สะท้อนถึงความไม่เสมอภาค
3) พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ประกาศชัดเจนว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ที่หากยึดหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญจะได้ ส.ส.ประมาณ 250 กว่าที่นั่ง แต่หากใช้สูตรที่ทำให้มีพรรคการเมือง 27 พรรคได้บัญชีรายชื่อด้วย พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะเหลือเพียง 240 กว่าที่นั่งเท่านั้น ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นอีกผลกระทบจากสูตรคำนวนนี้
อย่างไรก็ตาม ขอให้ กกต.ยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพิสูจน์ความเป็นอิสระขององค์กรตัวเอง ซึ่งหากใช้สูตรคำนวณที่ให้พรรคการเมือง ซึ่งมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ได้บัญชีรายชื่อด้วยอาจมีประชาชนหรือพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรง เอาผิดกับ กกต.ได้ ไม่ว่าจะเป็นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงตามกฎหมายเลือกตั้งและประมวลจริยธรรมขององค์กรอิสระด้วย