ทีมนักวิจัยอิสราเอลรวม 6 คน สิ้นสุดภารกิจการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำลองแบบมาจากดาวอังคารแล้วเมื่อวานนี้ (18 ก.พ. 61) หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจได้ 4 วัน
หลังจากที่มีการจำลองทะเลทรายเนเกฟในอิสราเอล ให้มีสภาพแวดล้อมคล้ายดาวอังคาร เพื่อให้นักวิจัยทดสอบการใช้ชีวิตอยู่ในภาวะดังกล่าว ล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอิสราเอล เผยว่า การทดลองได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
การทดลองนี้มีขึ้นที่เมืองมิตซเป รามอน (Mitzpe Ramon) ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศ ลักษณะ ความแห้งแล้ง และความเวิ้งว้างไม่ต่างจากดาวอังคาร
สำหรับโครงการ D-Mars จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 15 - 18 กุมภาพันธ์ โดยเกิดจากความร่วมมือขององค์การอวกาศอิสราเอล ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องสำรวจพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดาวอังคารในอนาคต รวมถึงการสื่อสารผ่านดาวเทียม ผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดจากความโดดเดี่ยว การตรวจวัดรังสีและหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในดิน
โดยกาย รอน (Guy Ron) อาจารย์ด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮีบรูในเยรูซาเลม เผยว่าโปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยในการออกแบบสำหรับภารกิจดาวอังคารในอนาคต แต่ยังจะทำให้ประชาชนสนใจเรื่องอวกาศมากขึ้นอีกด้วย