“อ.วิโรจน์” วิเคราะห์ท่าที “สหภาพฯ การบินไทย” ยื่นหนังสือถึง“ประยุทธ์” ยอมทำตามข้อเสนอ เข้าแผนฟื้นฟู! “คำผกา” ก็ทวนท่าที “อุตตม” คงท่าทีฟื้นฟูได้ โดยไม่ต้องล้มละลาย ทั้งที่ข่าวลือหนาหู ครม.เห็นควรให้ล้มละลาย
จนต้องชวนกันตั้งคำถามว่า จะอุ้มกันขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องให้บทเรียน ถ้ารัฐจะอุ้ม ต้องให้ความมั่นใจว่าจากนี้จะไม่เจ๊ง!
นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงข่าว เมื่อ 12 พ.ค. ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้แผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ จึงจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และนายกฯกล่าวว่า ขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสหภาพฯและพนักงานด้วย และไม่ประสงค์ให้พนักงานสองหมื่นกว่าคนต้องเดือดร้อน
สหภาพฯ ชาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่นายกฯ ห่วงใยพนักงานการบินไทย องค์กรสายการบินแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อให้แผนพื้นฟูที่อยู่ในระหว่งการพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และครม.บรรลุตามวัตถุประสงค์ สหภาพฯ การบินไทย และพนักงาน ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อมั่นว่านายกฯ จะสามารถแก้ปัญหาให้การบินไทย ให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยว่า แผนการฟื้นฟูการบินไทยยังอยู่ในช่วงการหารือ แผนล้มละลายเป็นหนึ่งในทางเลือก ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้สรุป โดย ครม. จะตัดสินใจทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องล้มละลายก่อน เพราะการล้มละลาย กับการฟื้นฟู เป็นคนละเรื่องกัน
ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขอให้ปฏิรูปหรือรีโนเวตการบินไทยใหม่ ด้วยการลดการถือหุ้นของรัฐโดยกระทรวงการคลัง เหลือ 10-20% เท่านั้น หรือให้เอกชนถือหุ้นทั้งหมด โดยยังใช้แบรนด์การบินไทย เปิดทางให้มืออาชีพเข้าไปบริหาร อย่างการดำเนินการของสายการบินต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, กาตาร์ ที่ฟื้นฟูและกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
ในฐานะที่เคยดูแลการบินไทยมา 2 สมัยในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2537-2539 และ ปี 2544-2545 การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจทำกำไรได้ตลอด และย้ำว่าการเปิดเสรีการบินเมื่อปี 2545 ซึ่งได้รองรับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและรับการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นแสนล้านบาทต่อปีในเวลาต่อมา ดังนั้นจะโทษการเปิดเสรีการบิน ว่าทำให้การบินไทยขาดทุนไม่ได้ เพราะหลังเปิดเสรี ปี 2545-2547 มีกำไรมากกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2548-2549 มีกำไรปีละ 6,000-7,000 พันล้านบาท แต่มาขาดทุนหนักหน่วงปี 2557 ถึง 1.5 หมื่นล้าน หากรวมปี 2557-2562 ขาดถึงรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท เฉพาะปีนี้ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ด้วย คาดว่าขาดทุนถึง 50,000 ล้านบาท หากรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้น่าจะใช้ได้เพียง 5 เดือน ภายใต้โครงสร้างการบริหารงานแบบเดิมเงินก็จะหมด
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า การบินไทยมีจุดแข็งเป็นสายการบินแห่งชาติที่มีรัฐบาลดูแลหรือถือหุ้นใหญ่ มีการบริการดี ทั้งพนักงานและอาหาร ผู้โดยสารรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยในการใช้บริการ แต่มีจุดอ่อน คือ การเมืองเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป และก่อตั้งมานานโดยมีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดไม่ค่อยมีคู่แข็ง และปรับตัวไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เเข่งขันกันเข้มข้น
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือต้องทำให้ได้กำไร โดยนักบริหารที่เป็นมืออาชีพ, สร้างความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลในองค์กร และรัฐต้องถอนหุ้นออกมาให้เอกชนถือหุ้นทั้งหมด หรือหากยังคงหุ้นของรัฐก็ควรจะน้อยที่สุดไม่ควรเกิน 25 เปอร์เซ็นต์