บริหาร 'แอปเปิล' ให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐฯ โจมตีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ต้องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า โดยอ้างว่าต้องพัฒนาการบริการ ซึ่งแม้จะไม่มีการเอ่ยชื่อบริษัทโดยตรง แต่สื่อสหรัฐฯ ระบุว่า 'ทิม คุก' กำลังพูดถึง 'เฟซบุ๊ก' และ 'กูเกิล'
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า นายทิม คุก ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทแอปเปิล ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เข้าร่วมรายการ Vice News Tonight ซึ่งออกอากาศในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทิม คุก กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแอปเปิลว่าเป็น 'สิ่งสำคัญที่สุด' ที่บริษัทยึดถือ ทั้งยังระบุด้วยว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสื่อสารและต้องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการด้านต่าง ๆ นั้นเป็นแค่ 'ข้ออ้าง' ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ควรหลงเชื่อโดยเด็ดขาด
ขณะที่เว็บไซต์แอปเปิลอินไซเดอร์ รายงานเพิ่มเติมว่าคุกมีกำหนดขึ้นพูดในเวทีการประชุมของสหภาพยุโรป ว่าด้วยจริยธรรมและการเคารพสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 ตุลาคมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พร้อมย้ำว่านายทิม คุกนั้นเห็นชอบให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงหรือมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล
แม้ว่าทิม คุก จะไม่ได้เอ่ยชื่อบริษัทโดยตรง แต่สื่อสหรัฐฯ ระบุว่าเขาหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล ซึ่งเป็นทั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลที่เก็บบันทึกข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเอาไว้ใช้ประโยชน์กับบริษัทด้านโฆษณา เพื่อทำการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความกังวลถึงความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเฟซบุ๊กที่เพิ่งเกิดกรณีแฮกเกอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในการแฮกครั้งใหญ่นี้มีบัญชีที่ถูกแฮกรวมกันมากถึง 50 ล้านบัญชีทั่วโลก โดยแฮกเกอร์น่าจะอาศัยช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เฟซบุ๊กพัฒนาระบบการทำงานและการอัปโหลดวิดีโอเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 และเกี่ยวข้องกับการใช้งานฟังก์ชัน View As ซึ่งมีไว้ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กกดดูว่าผู้ใช้รายอื่นมองเห็นหน้าเพจของตนเป็นแบบใด
แฮกเกอร์ค้นพบช่วงโหว่ในฟีเจอร์ดังกล่าวจึงสามาเข้าไปขโมยเอา 'โทเคนการเข้าถึง' ซึ่งเปรียบสเมือน 'กุญแจดิจิทัล' และนำไปสู่การเข้าใช้บัญชีของผู้อื่นได้ โดยทางเฟซบุ๊กได้บังคับให้ผู้ใช้งาน 90 ล้านบัญชีออกจากระบบโดยอัตโนมัติแล้วทำการสกัดกั้นแฮกเกอร์ ก่อนที่จะให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกลับเข้าใช้ระบบได้อีกครั้ง ซึ่งสร้างความกังวลให้ผู้ใช้งานอย่างมากถึงความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวของตน
นายทิม คุก ยังย้ำอีกด้วยว่า นโยบายที่แอปเปิลยึดมั่น คือการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกาย ทริบเบิล รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของแอปเปิล ที่ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า บริษัทสนับสนุนกฎหมายปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผลักดัน เพราะการปกป้องความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ผู้บริหารของแอปเปิลยืนยันว่าทางบริษัทพยายามออกมาตรการในการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวกับข้อมูลผู้ใช้งานมาโดยตลอด โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาฮาร์ดแวร์ใหม่เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแอปเปิลนั้นยากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายนอกหรือแม้แต่ตัวบริษัทแอปเปิลเอง ก็ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแอปเปิล และในวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา แอปเปิลตัดสินใจเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน โดยการบังคับให้ทุกแอปพลิเคชันต้องอธิบายอย่างละเอียดและโปร่งใสว่า พวกเขานำเอาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าส่วนใดบ้างไปใช้ และนำไปใช้งานอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า แนวคิดอนุรักษ์นิยมของนายทิม คุก ในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่เข้มงวดนั้น เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Siri ที่ปัจจุบันคู่แข่งอย่าง Alexa ของแอมะซอนกำลังเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เขาก็ยังยืนยันกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อเทคโนโลยีอย่าง VICE ว่า เขาต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาเชื่อว่าในศตวรรษเช่นนี้ ความเป็นส่วนตัวคือหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอปเปิลเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการเช่นกัน หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลจีนขอความร่วมมือในการกำกับดูแลเนื้อหาของข้อมูลออนไลน์ที่เก็บไว้ในระบบคลาวด์ของแอปเปิล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสังคมจีน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว อย่างเช่นข้อความในโทรศัพท์ อีเมล รูปภาพ และข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ใช้งานแอปเปิลอัปโหลดไว้บนแอปเปิลคลาวด์
ซึ่งบริษัทแอปเปิลเองได้ออกมายืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง โดยย้ำว่าแอปเปิลมีระบบเซิร์ฟเวอร์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ยากมากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานได้มากกว่า และยืนยันว่าแอปเปิลให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ 'คลาวด์' ในจีน โดยใช้มาตรฐานความปลอดภัยแบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก