บริษัทหลายแห่งในจีนแจ้งเตือนพนักงานให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท 'แอปเปิล' และสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทหัวเว่ยแทน
องค์กรและบริษัทหลายแห่งในจีนเริ่มประกาศนโยบายบอยคอตผลิตภัณฑ์จากบริษัทแอปเปิลของสหรัฐฯ เพื่อประท้วงกรณีสหรัฐฯ ส่งคำร้องถึงรัฐบาลแคนาดาให้จับกุมนางเมิ่งหว่านโจว ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารอันดับต้น ๆ ของจีน
ทางแคนาดาและสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่านางเมิ่งหว่านโจว ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ของบริษัทหัวเว่ย วัย 46 ปี และยังเป็นบุตรสาวของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย มีพฤติกรรมฉ้อโกง สืบเนื่องจากการตั้งบริษัทสกายคอม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหัวเว่ย ขึ้นมาบังหน้าเพื่อทำธุรกิจกับอิหร่านในช่วงปี 2009 ถึงปี 2014 ซึ่งเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติ
ล่าสุด นางเมิ่งหว่านโจวได้รับการประกันตัวแล้วด้วยวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 245 ล้านบาท หลังจากที่ศาลใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้นานถึง 3 วัน และทนายความของเธอให้การรับประกันและทำให้ศาลเชื่อมั่นว่าเธอจะไม่หนีออกนอกประเทศหลังได้รับการประกันตัว อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการประกันตัวแล้ว แต่เมิ่งหว่านโจวจะต้องถูกทางการแคนาดาจับตามองตลอด 24 ชั่วโมง โดยเธอจะต้องสวมปลอกเท้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสัญญาณติดตามตัวตลอดเวลา
การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ และแคนาดา ทำให้หลายองค์กรและบริษัทในจีนออกแถลงการณ์ต่อต้านสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ เช่นสภาหอการค้าเมืองหนานชางออกแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐฯ พยายามกีดกันการเติบโตของจีน ทางสมาคมเชื่อว่าคนจีนควรสามัคคีกันและสนับสนุนแต่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากจีน ทั้งนี้ ทางสภายังกล่าวเตือนถึงสมาชิกด้วยว่าอาจจะถูกลงโทษหากซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมาใช้
นายหลู่ เฉียง เลขาธิการสภาหอการค้าหนานชางกล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า ทางรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการหรือนโยบายในการกีดกัน หรือบอยคอตผลิตภัณฑ์จากแอปเปิลในครั้งนี้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากประชาชนเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปฏิกิริยาจากหลายบริษัทที่ออกมาตรการสนับสนุนให้พนักงานหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากจีนอย่างหัวเว่ยและ ZTE แทนการใช้โทรศัพท์มือถือของแอปเปิล เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในเซินเจิ้นกล่าวว่า ทางบริษัทจะให้เงินสนับสนุน 15 % แก่พนักงานที่ซื้อโทรศัพท์จากหัวเว่ยและ ZTE และทางบริษัทจะปรับเงินพนักงานที่ซื้อผลิตภัณฑ์จาแอปเปิลมาใช้
ขณะที่บริษัทเฉิงตู RYD เทคโนโลยี ในเมืองเฉิงตู กล่าวว่าทางบริษัทจะหันมาใช้อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในส่วนต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยนับตั้งแต่นี้ไป และจะให้เงินสนับสนุน 15 % แก่พนักงานในการซื้อผลิตภัณฑ์จากหัวเว่ย
ทั้งนี้ การประกาศต่อต้านผลิตภัณฑ์ของต่างชาติไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในจีน รานา มิตเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์จีน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า การบอยคอตสินค้าของสหรัฐฯ เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และจะไม่ลุกลามใหญ่โตถ้าหากทางการจีนไม่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การประท้วงญี่ปุ่นเรื่องกรณีพิพาทดินแดนระหว่างจีนและญี่ปุ่นในปี 2012 ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งในจีนถูกโจมตีและรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเร่งผลักดันให้บรรดาประเทศพันธมิตรที่มีกองทัพสหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพอยู่ ให้ยุติและแบนการใช้งานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณทางไกล อุปกรณ์ไร้สาย และอุปกรณ์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากบริษัทหัวเว่ยจากประเทศจีน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
ปัจจุบัน กองทัพสหรัฐฯ เลือกใช้อุปกรณ์การส่งสัญญาณเครือข่ายที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อปกป้องข้อมูลลับทางการทหารให้มีความรัดกุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทางกองทัพยังคงกังวลว่าจะมีการรั่วไหลของข้อมูล เพราะในปัจจุบัน เส้นทางของการส่งข้อมูลเหล่านี้ยังต้องใช้เส้นทางสัญญาณในหลายประเทศ เช่นในญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี
The Wall Street Journal รายงานว่า สิ่งที่ทางการสหรัฐฯ กำลังเร่งมือทำในขณะนี้ คือการเดินทางเข้าพบกับผู้แทนรัฐบาลของชาติพันธมิตร และผู้บริหารระดับสูงของบรรดาบริษัทด้านสัญญาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้แบนการใช้อุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม ที่มีความเกี่ยวข้องหรือผลิตโดยบริษัทหัวเว่ย โดยให้เหตุผลว่าอุปกรณ์จากหัวเว่ยเพิ่มความเสี่ยงต่อการก่อเหตุคุกคามทางไซเบอร์ และอาจเปิดช่องให้รัฐบาลจีนเข้ามาสืบความลับได้ หรือแม้แต่อาจสั่งให้หัวเว่ยระงับการให้บริการเมื่อใดก็ได้
หลังจากนั้นไม่กี่วัน รัฐบาลของประเทศนิวซีแลนด์ได้ออกมาตรการสั่งห้ามในลักษณะเดียวกัน โดยการห้ามบริษัทด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์การส่งสัญญาณ 5G จากบริษัทหัวเว่ย ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นช่องทางในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกของจีนอีกทางหนึ่ง
เว็บไซต์ CNN Business ระบุว่า สปาร์ก บริษัทด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ชี้ว่า ทางการของนิวซีแลนด์มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ และระบุว่าหากทางบริษัทสปาร์กนำอุปกรณ์การส่งสัญญาณ 5G มาใช้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในระดับประเทศ ซึ่งทางหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการสื่อสารของนิวซีแลนด์ หรือ GCSB ได้ให้การยืนยันกับ CNN ว่าเป็นเรื่องจริง
ปัจจุบัน หัวเว่ยนอกจากจะเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ที่สุดในจีนแล้ว ยังครองตำแหน่งบริษัทด้านเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากในการลงทุนพัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่บริษัทของโลกเท่านั้นที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการใหม่ของทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ออกมาจะมีผลทำให้บริษัทสปาร์กไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวจากหัวเว่ยได้อีกต่อไป และต้องหันไปพึ่งบริษัทอื่นแทนเพื่อพัฒนาระบบ 5G