ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยธวัช' เชื่ออีก 1-2 วัน จะเห็นฉากทัศน์ชัดเจน 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' มุ่งจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่เคาะส่ง 'เศรษฐา' ชิงนายกฯ รอบหน้าหรือไม่ ด้าน 'พิธา' ลาพักผ่อนกับลูก

วันที่ 20 ก.ค. ที่พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงการประชุม ส.ส.พรรค ในวันนี้ ว่าเป็นการหารือถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ โดยตนได้เดินทางไปหารือกับพรรคเพื่อไทยถึงสถานการณ์ร่วมกัน ว่าประเมินในแต่ละฉากทัศน์อย่างไรบ้าง โดยทิศทางหลักในการหาทางออกตอนนี้ คือการพยายามจัดตั้งรัฐบาลร่วมทั้ง 8 พรรค ให้สำเร็จ 

ในการเสนอชื่อนายกฯ รอบหน้าเป็น เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย นั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ต้องผ่านการประชุม ส.ส.และคณะกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกลในวันนี้ ส่วนกรณีที่ เศรษฐา ได้ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะไม่เอาเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มองเรื่องนี้อย่างไร ชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยและหาข้อสรุปร่วมกัน 

ขณะที่โอกาสจะพลิกแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทน ชัยธวัช กล่าวว่า พิธา เคยแถลงไว้แล้ว หากประเมินแล้วโอกาสที่พรรคก้าวไกล จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ไม่มีความเป็นไปได้จริงๆ ก็คงต้องเปิดโอกาสให้กับประเทศ อยู่บนกรอบที่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของ 8 พรรคร่วม และบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU ที่ได้ทำร่วมกันไว้ พร้อมมองว่าคงยังไม่ถึงขั้นต้องแก้ MOU

ชัยธวัช ยังเผยว่า เมื่อคืนได้มีการคุยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จิตใจแข็งแรงดี ซึ่งที่ผ่านมา พิธา ไม่ได้พักผ่อนเลย จึงขอไปพักผ่อนกับลูกสาว และในวันที่ 22 ก.ค.ก็จะกลับมาทำงานกันอีกครั้ง 

ชัยธวัช ระบุว่า จากการประชุม อีก 1-2 วันก็จะเห็นฉากทัศน์ชัดเจน เพราะเวลาในการทำงานมีจำกัด ส่วนที่ระบุว่าจะมีการพลิกขั้วให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านนั้น เรามองว่าคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนและประเทศ คือการพลิกขั้วรัฐบาลจากสมัยที่แล้ว ประชาชนได้แสดงความชัดเจนแล้วว่าต้องการให้พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นรัฐบาล บริหารประเทศ ก็คงจะทำให้ดีที่สุด แต่อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าหากมีการเสนอนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย แต่มีพรรคก้าวไกลร่วม ก็จะยังไม่โหวตให้ 

กรณีหากเหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม จะมีการพูดคุยเพื่อเสนอเสนอชื่อ พิธา อีกครั้งหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ในที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคประเมินกัน ในวันนี้เรื่องดังกล่าวคงจะเป็นวาระหลักในการพูดคุย ซึ่งจะต้องมีการประเมินเพราะไม่มีความชัดเจน ว่าเข้าข่ายข้อบังคับที่ 41 ความพยายามที่จะไปตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ ว่าเข้าข่ายข้อบังคับที่ 41 เลยไม่สมเหตุสมผล ซึ่งใช้สำหรับญัตติทั่วไปหลังจากที่สภามีมติออกมาแล้วเมื่อวาน แม้แต่นักกฎหมายที่อยู่คนละฝ่ายกับประชาธิปไตยก็ยังรับไม่ได้ ถือว่าเป็นการลงมติที่เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับสภาชุดนี้

เมื่อถามถึงคำแนะนำจากนักวิชาการให้ยื่นตีความใหม่ เป็นอีกแนวทางที่จะพิจารณาด้วยหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันในพรรค แต่ประชาชนก็สามารถไปยื่นได้