วันที่ 26 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา ประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงกรณีพรรคเพื่อไทยเลื่อนประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ระหว่างการทำงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเจรจากับ สว. ซึ่งได้เสียง สว. มาพอสมควร เพิ่มเติมจาก 13 เสียงเดิมของพรรคก้าวไกล สำหรับส่วนของพรรคเพื่อไทย มี สว.บางส่วนกำลังพูดคุยและบางส่วนตัดสินใจได้แล้ว หลายท่านยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ได้หารือกับ สส. จากทุกพรรคการเมือง โดยการเลื่อนประชุมรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปสัปดาห์หน้า จะทำให้มีเวลาในการพูดคุยหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ มากยิ่งขึ้น
ประเสริฐ ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับพรรคก้าวไกลจนมองหน้ากันไม่ติด เมื่อวานตนได้โทรฯ หา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พูดคุยเข้าใจกันดีหลายเรื่อง และหากพรรคเพื่อไทยนัดประชุมมาวันไหนอีก พรรคก้าวไกลก็พร้อมเข้าร่วม
ส่วนการเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ประเสริฐ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่การยืมมือเพื่อนบีบก้าวไกลให้เป็นฝ่ายค้าน โดยการพบปะหารือของพรรคเพื่อไทยเป็นไปตามมติของ 8 พรรคร่วมเท่านั้น ไม่มีการตกลงร่วมรัฐบาล หรือเรื่องอื่นๆ เพียงสอบถามความคิดเห็นของแต่ละคนต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้
ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ต้องรู้ล่วงหน้า เพราะพรรคเพื่อไทยระบุในที่ประชุม 8 พรรคร่วม ว่าจะพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง พร้อมนัดหมายออกสื่อเป็นสาธารณะ ก็ถือว่าทุกพรรคการเมืองรับรู้แล้ว
สำหรับข้อเสนอจากบางฝ่ายที่เห็นว่า ควรทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือ MOU ใหม่ หลังพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประเสริฐ ย้ำว่า MOU 23 ข้อ ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นการพูดคุยจนตกผลึกระหว่าง 8 พรรคการเมือง ขณะที่ MOU ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีอยู่ 4 ข้อ ซึ่งทำขึ้นมาภายหลัง
ประเสริฐ มองว่า หากมีการนัดหมาย 8 พรรคร่วมอีกคงมีการหารือในเรื่องนี้ และมองว่าควรปรับ MOU ให้สอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เช่น ในข้อ 1 ที่ว่าด้วยการสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ โอกาสคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
ส่วนที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ที่ประชุมสภาฯ ทบทวนมติเรื่องข้อบังคับการประชุมที่ 41 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นั้น ประเสริฐ กล่าวว่า ต้องขอดูเหตุผลของพรรคก้าวไกล และรายละเอียดก่อน
ทั้งนี้ ประเสริฐ ไม่เป็นห่วงว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยจะประสบปัญหาเดียวกับ พิธา เพราะแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยมีคุณสมบัติพร้อม และหวังว่าจะโหวตผ่านในการเสนอชื่อครั้งเดียว
กรณีหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ประเสริฐ มองว่า หากจะมีการนัดประชุมเพื่อเลือกนายกฯ อีกครั้ง ต้องรอคำสั่งจากศาลก่อน โดยยังไม่รู้ว่าเป็นวันใด หากมองจากกรอบเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมทุกวันพุธ ซึ่งสัปดาห์นี้คงยากแล้ว ส่วนสัปดาห์หน้าก็เป็นวันหยุดเข้าพรรษา ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดประชุมอีกวันที่ 10 ส.ค. แต่ก็ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา