ไม่พบผลการค้นหา
คลิปเสียงหลุดโลกออนไลน์แนะนักเรียน 'ลาออก' หลังแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง แม้ก่อนหน้านี้ ศธ.ออกคำสั่งให้โรงเรียนเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเด็ก

เมื่อการเมืองเป็นหัวข้อที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คน จึงไม่แปลกที่ความเห็นต่างจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ตามไลน์กลุ่มครอบครัว หรือแม้แต่การแสดงออกของนักเรียนในสถาบันการศึกษา 

เมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา บัญชีทวิตเตอร์หนึ่งโพสต์ 2 คลิปเสียงติดต่อกัน ระยะเวลารวมประมาณ 3 นาทีครึ่ง มีเนื้อหาเป็นการถกเถียงระหว่างชายคนหนึ่งกับกลุ่มเด็กผู้หญิงที่เรียกชายคนนั้นด้วยสรรพนามว่า 'ครู'

ในช่วงต้นของคลิปเสียงแรก ชายคนดังกล่าวพูดกับเด็กหญิงกลุ่มนี้ในทำนองว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการไม่ให้เกียรติเจ้าของที่ดินที่เหล่าเด็กหญิงใช้ประโยชน์อยู่ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม พร้อมแนะนำว่าหากไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ให้ออกไปอยู่ในสถานที่ที่ตัวเองพอใจมากกว่านี้

ต่อจากประโยคดังกล่าว เริ่มเป็นการถกเถียงกันถึงสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมที่เด็กนักเรียนพึงกระทำได้ในสถานศึกษา กลุ่มนักเรียนหญิงในคลิปชี้ว่า พวกตนเสียเงินเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในสถาบันแห่งนี้ ย่อมต้องมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเอง

"หนูจ่ายตังค์เพื่อมาเรียน แต่ครูไม่ให้หนูมีปากเสียงอะไร แล้วการเมืองมันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทำไมถึงพูดไม่ได้"

'วอยซ์ออนไลน์' ติดต่อเจ้าของโพสต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนหญิงและไม่ประสงส์เปิดเผยชื่อก่อนทราบว่า เหตุการณ์ที่นำมาสู่การมีปากเสียงในทั้ง 2 คลิปเสียง เริ่มจากการที่เด็กนักเรียนบางกลุ่มเลือกเปลี่ยนแปลงคำปฏิญาณตนหลังการร้องเพลงชาติและเพลงโรงเรียนเสร็จสิ้น โดยคำปฏิญาณแบบใหม่มีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

"พวกเราคนไทย อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีชาติ เสรีภาพ และประชาชน ซึ่งบรรพบุรุษของเรา เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ เราต้องรักษาชีพเพื่อชาติ เสรีภาพและอำนาจอธิปไตย"

เจ้าของโพสต์ในทวิตเตอร์ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเวลานักเรียนเลือกแสดงออกทางการเมือง ครูบางส่วนในโรงเรียนไม่เห็นด้วยและมีการแอบถ่ายรูปนักเรียนบ้าง แต่ครั้งนี้ตนเองรู้สึกไม่พอใจเพราะครูคนดังกล่าวเข้ามาโดยลักษณะคุกคามผ่านการตะคอก จนทำให้ตนเองและเพื่อนนักเรียนรู้สึกหวาดกลัว

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโพสต์ชี้ว่าครูคนดังกล่าวได้เข้ามาขอโทษแล้ว

แอดมินจากแฟนเพจ 'spagainstdictator' หรือโรงเรียนวังจะ 'พัง' เผด็จการ บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่าก่อนหน้านี้กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนพยายามร่วมกันแสดงออกทางการเมืองตลอดมา

ก่อนวันเกิดเหตุในคลิป นักเรียนส่วนหนึ่งนำป้ายผ้าที่ระบุว่า 'หยุดคุกคามนักเรียน' ไปแขวนบริเวณด้านหน้าของตึกเรียน ก่อนนำนักเรียนพูดคำปฏิญาณตนแบบใหม่ จนมีการเชิญผู้นำพูดตอนเคารพธงชาติเข้าพบกับครูฝ่ายปกครองโดยไม่ได้มีการข่มขู่ เพียงแต่โน้มน้าวให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว 

'วอยซ์ออนไลน์' พยายามติดต่อบัญชีทวิตเตอร์ของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นชายในคลิปเสียงและมีการโต้ตอบกับโพสต์ดังกล่าว แต่บัญชีทวิตเตอร์นั้นถูกลบไปในภายหลัง 


ที่ดินโรงเรียนวัง 

จากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนที่ถูกพูดถึงในกรณีข้างต้นคือ โรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรี เปิดสอนตั้งแต่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปัจจุบันมี วิมลนาถ บัวแก้ว ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน 

จากคลิปเสียงข้างต้นที่พาดพิงประเด็นที่ดินสถานศึกษาพบว่า โรงเรียนสตรีแห่งนี้ที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่ 2 งาน 0.6 ตารางวาง ได้รับที่ดินส่วนหนึ่งจากทายาทของ 'พลเรือโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์' โดยมีการทำพิธิมอบตำหนักให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในปี 2459 ภายใต้ข้อแม้ว่า "ถ้าไม่ทำเป็นโรงเรียนสตรี จะต้องคืนให้แก่ทายาทกองมรดก"

ต่อมา กระทรวงศึกษาศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอซื้อที่ 3 โฉนด จำนวน 279.6 ตารางวา จาก ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต ในปี 2494 ถัดมาเพียง 1 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ในขณะนั้น) พร้อมด้วย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน 1 ไร่ 28 ตารางวา ให้กับโรงเรียน 

ในปี 2524 ร.อ.พจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ น.ต.ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการมรดก ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ได้บริจาคที่ดินเพิ่ม จำนวน 1 งาน 53 ตารางวา ให้แก่โรงเรียน ทำให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 4 ไร่ 31.6 ตารางวา

ปัจจุบันโรงเรียนสายปัญญาฯ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ


สิทธิและเสรีภาพของนักเรียน

18 ส.ค.ที่ผ่านมา สพฐ.ออกหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เรื่องการชุมนุมของนักเรียนในสถานศึกษา ระบุว่า ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ส.ค. 2563 

ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ จึงขอความอนุเคราะห์พิจารณาสั่งการให้สถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

ถัดมา 2 วันหลังจากนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักบูรณาการกิจการการศึกษาออกบันทึกข้อความ ลงวันที่ 20 ส.ค.2563 ระบุว่า การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ถือว่าสามารถทำได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นควรให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดรับฟังความเห็นของรนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาและการเมือง 

การศึกษา กลุ่มนักเรียนเลว กระทรวงศึกษาธิการ ชุมนุม  นักเรียน

นอกจากนี้ ในบทความ 'แนวปฏิบัติในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่สถาบันการศึกษาของรัฐตามหลักสากล' ของ พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ที่เขียนไว้เมื่อ 4 ก.ย.ระบุว่า "สถานศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาของรัฐ ควรยึดหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามหลักสากลซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี"

หนึ่งในพันธะของสถาบันการศึกษาของรัฐบาลผูกติดอยู่กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มีพันธกิจต้องคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม 2 มิติ คือ 

(1) พันธะเชิงลบ (Negative Obligation) สถานศึกษาจะต้องละเว้นจากการแทรกแซงหรือจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากฐานทางกฎหมายที่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนในบริบทของสังคมประชาธิปไตย 

(2) พันธะเชิงบวก (Positive Obligation) สถาบันการศึกษามีหน้าที่อำนวยความสะดวก และปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุมจากอันตรายหรือความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น พันธะเชิงบวกนี้รวมถึงการที่จะต้องอำนวยความสะดวกผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ อาทิ ผู้ที่สัญจรไปมา ร้านค้า ธุรกิจ บริการสาธารณะต่างๆ และ การเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษาอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นต้น 

นอกจากนี้ บทความของ พัชร์ ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ iLaw ยังกล่าวถึงรูปแบบของการชุมนุมไปจนถึงการกำหนดข้อจำกัด (restrictions) เสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ

เมื่อย้อนกลับมาดูบทบาทหน้าที่ของครู ตามมาตราที่ 88 หมวด 6 ของพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ระบุว่า "ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน...การกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียน หรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;